AH โชว์รายได้ปี 66 “นิวไฮ” 3 หมื่นล้าน บอร์ดแจกปันผล 0.95 บ. ขึ้น XD 14 มี.ค. 67

AH โชว์รายได้ปี 66 “นิวไฮ” แตะ 3 หมื่นล้านบาท โต 7% อานิสงส์คำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์พุ่ง เคาะปันผล 0.95 บาท ขึ้น XD 14 มี.ค.นี้ จ่ายปันผล 24 พ.ค. 67 มั่นใจปี 67 เติบโตต่อ จากปริมาณคำสั่งซื้อ จีน โปรตุเกสและมาเลเซีย


นาย เย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการหลังการขาย และธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ และ IoT (Internet of Things) รายงานผลประกอบการปี 2566 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 30,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,041  ล้านบาท หรือ 7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้รวม 28,348 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลักไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) จำนวน 1,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59 ล้านบาท หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ทำไว้ 1,704 ล้านบาท

โดยจากข้อมูล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2566 หดตัวลงประมาณ 2% ในขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เติบโตประมาณ 12% ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยลดลงประมาณ 9% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะรถปิคอัพได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และมีการประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 67 ไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เติบโต 3% จากปี 66

อย่างไรก็ตาม อาปิโกยังสามารถทำผลประกอบการทั้งปี 66 ได้ดีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จากการเติบโตของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและศูนย์การให้บริการรถยนต์ และการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน โปรตุเกส และมาเลเซีย ซึงช่วยลดผลกระทบจากสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทำให้เห็นว่าบริษัทมีจุดแข็งในการกระจายความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งการมีฐานการผลิตในหลากหลายภูมิภาค มีส่วนสำคัญในการลดการพึ่งพารายได้จากประเทศใดประเทศหนึ่ง

ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4/2566 บริษัทมีรายได้รวม 7,226  ล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ภายในประเทศลดลง 12% และมีกำไรสุทธิหลัก (ไม่รวมกำไร (ขาดทุน)

อีกทั้ง จากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) 421 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายการค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างธุรกิจ  ได้แก่ การยุติการดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร จำนวน 76 ล้านบาท รวมถึงรายการแปลงค่างบการเงินที่เคยรับรู้ในส่วนแบ่งกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการขายเงินลงทุนในบริษัท Sakthi Auto Company Limited (SACL) จำนวน 171 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้การขาดทุนผ่านงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานทางบัญชี แต่ไม่มีผลกระทบต่อส่วนทุนผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“โดยบริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทบทวนยุทธศาสตร์ และคอยติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ได้เข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด จึงตัดสินใจยุติธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาดที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะกลาง และระยะยาว” นายเย็บ ซู ชวน กล่าว

อีกทั้งในปี 2567 นี้ บริษัทมั่นใจว่าจะยังคงสามารถทำรายได้เติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศไทย จากปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้าในประเทศจีน โปรตุเกส และมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และยังคงเดินกลยุทธ์มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ บริษัทยังมีสถานะทางการเงินและงบดุลแข็งแกร่ง  มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ 0.5 เท่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่ 1 เท่า และมีเงินสดและเงินฝากประจำ 3,339 ล้านบาท ทำให้มีความพร้อมสำหรับการพิจารณาโอกาสลงทุนใหม่ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับสากล

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ล่าสุด ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ในอัตรา 0.95บาท/หุ้น รวมทั้งปีจ่ายเงินปันผล (1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 66) ในอัตรา 1.65 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 1.56 บาทต่อหุ้น ในปี 2565 ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลถึง 6.9% โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 15 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

Back to top button