SABUY กวาดรายได้ปี 66 แตะ 9.6 พันล้าน จ่อปรับโครงสร้าง-ลุยขยายธุรกิจใหม่

SABUY เปิดงบปี 66 กวาดรายได้ปี 66 แตะ 9.6 พันล้านบาท โต 80% เตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พร้อมลุยขยายลงทุนธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดค่าใช้จ่าย-ลดความซ้ำซ้อน


นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากธุรกิจ SPEED, SABUY Alliance, BzB, iSoftel และ Marketing Oops

ขณะที่ธุรกิจเดิมเช่น ตู้เติมเงินค่อนข้างตึงตัวอย่างต่อเนื่องประกอบกับรายได้ตู้เติมเงินจะมาจาก banking agent เพิ่มขึ้นทำให้รายได้ที่ SABUY Money เพิ่มขึ้นพอควร

ส่วนรายได้จากการขายอยู่ที่ 6.2 พันล้าน เพิ่มขึ้น 131% จากธุรกิจ SBNEXT, VDP, SABUY Market & Food, บัตรพลาสติก(PTECH), BzB, LOVLS และรายได้จากการให้บริการตามสัญญาและดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 577 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% โดยหลักจากธุรกิจ LOVLS ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ SBNEXT ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ในขณะที่ SBT ลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการขาดทุนในไตรมาส 4 ที่ 574 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดผลการขาดทุนในปี 2566 ที่ 190 ล้านบาท แต่เป็นผลมาจากสภาวะสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทในตลท. ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดเงินและตลาดหุ้นกู้ที่บจ. หลายบริษัทไม่ชำระ หรือเลื่อนการชำระออกไป ประกอบกับธนาคารพาณิชย์คุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อและคอยดูว่าบจ.ต่างๆ สามารถคืนหุ้นกู้ได้หรือไม่ SABUY จึงเลือกขายเงินลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (non-core) ตลอดจนธุรกิจที่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างมูลค่า และได้ขายเงินลงทุน 12% ใน TKC ในไตรมาส 4/2566 และ 4% ที่เหลือในไตรมาส 1/2567 โดยมุ่งเน้นการรักษาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่งผลให้บริษัทขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนประมาณ 640ล้านบาท และมีการบันทึกไว้ในไตรมาส 4/2566 แล้ว

สำหรับบริษัท SBNEXT ตลอดจนบริษัทในกลุ่มเช่น Alpine, Safe Trade และ เธียรสุรัตน์ลิสซิ่ง (TSRL) กลุ่มบริษัทตัดสินใจเพิ่มระดับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ส่งผลให้เกิดการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญในปี 2566 ในปริมาณถึง 140 ล้านบาท อีกทั้งเป็นการตั้งสำรองที่อาจเกิดผลกระทบในปี 2567

ในส่วนของ SBNEXT มีการเปลี่ยนวิธีบันทึกมูลค่าที่ดินจากราคาทุนเป็นมูลค่าที่ตีใหม่ในไตรมาส 3/66 ส่งผลให้มีการรับรู้การขาดทุนจากการตีมูลค่าที่ดินในไตรมาส 4/2566 จำนวน 43 ล้านบาท ทั้งนี้ SBNEXT อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ของที่ดิน (คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2567) ซึ่งคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2567

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงทุนในการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาและเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร การลงทุนดังกล่าวสามารถทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการพัฒนาระบบ IT ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ประมาณ 150-200 ล้านบาท และทยอยรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป

ด้านเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทฯ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดค่าใช้จ่ายและลดความซ้ำซ้อน กลุ่มจะมุ่งเน้นและบริหารจัดการอย่างเข้มงวด โดยตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งมุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ตัวคือ SABUY, SBNEXT, PTECH, SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop-Off) และ Asphere ขยายตลาดไปยัง segment อื่น ขยายผลิตภัณฑ์ และการขยาย cross sell ภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคได้รอบด้านมากขึ้นนั้น จึงส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ (Revenue Momentum) ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต และตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายพนักงานลงไปได้ประมาณ 200-250 ล้านบาท ในปี 2567 เช่น ค่าบุคลากร อาคารสถานที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 35 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบงดจัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสำรองตามกฎหมายและงดจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566

Back to top button