“ดาวโจนส์” ปิดบวก 91 จุด แรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ หนุน
“ดัชนีดาวโจนส์" ปิดบวก 91 จุด ขานรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นช่วยหนุน ขณะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า “เฟด” จะลดดอกเบี้ยเดือนมิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (1 มี.ค.67) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทะยานขึ้น ท่ามกลางความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลงด้วย
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,087.38 จุด เพิ่มขึ้น 90.99 จุด หรือ +0.23%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,137.08 จุด เพิ่มขึ้น 40.81 จุด หรือ +0.80% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 16,274.94 จุด เพิ่มขึ้น 183.02 จุด หรือ +1.14% ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.11%, ดัชนี S&P500 บวก 0.95% และ Nasdaq พุ่งขึ้น 1.74%
โดย ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่การพุ่งขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับ AI อาทิ อินวิเดีย และเมตา แพลตฟอร์มส หนุนดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นทะลุระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ในเดือนพ.ย. 2564 ที่ 16,212.23 จุด
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดฟิลาเดลเฟียปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังพุ่งขึ้นมากถึง 4.29%
ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น กลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากที่สุด 1.78% ขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลงมากที่สุด 0.72%
หุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 4% และปิดตลาดด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) สูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรก ขณะที่หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร และ ดีไวซ์ พุ่ง 5.25% ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่ หุ้นเดลล์ เทคโนโลยีส์ พุ่งขึ้น 31.62% หลังคาดการณ์รายได้และผลกำไรสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้ หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 1.83% หลังมีรายงานว่า โบอิ้งกำลังเจรจาเพื่อซื้อกิจการบริษัทสปิริต แอโรซิสเทมส์
นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย.ปีนี้ และคาดการณ์จะสามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิงได้ในขณะที่เฟดพยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์นั้น สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 47.8% ในเดือนก.พ. จากระดับ 49.1% ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5% โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50% ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16
โดย มหาวิทยาลัยมิชิ แกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 76.9% ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 79.6% จากระดับ 79.0% ในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 2.9%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค. ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 11.7% ในเดือนม.ค.