จับตา 3 กลุ่มใหญ่ ร่วมชิงไลเซนส์ หลังคลังจ่อคลอดเกณฑ์ “เวอร์ชวลแบงก์”

“คลัง” ประกาศเกณฑ์เวอร์ชวลแบงก์สัปดาห์นี้! เปิดรับสมัครภายในมี.ค. จับตา 3 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ร่วมวงชิงใบอนุญาต นำโดยเต็งหนึ่ง 4 พันธมิตร กลุ่มเอไอเอสจับกรุงไทย-กัลฟ์และโออาร์ ผู้บริหาร AIS มั่นใจแบงก์ไร้สาขาหนุนรายได้ใหม่ในอนาคต ตามด้วยกลุ่มทรูมันนี่กับพันธมิตรจีน ส่วนกลุ่มไทยพาณิชย์จับมือ KakaoBank จากเกาหลี กำหนดคุณสมบัติทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ ไม่อนุญาตให้จัดตั้งสาขาหรือบริการผ่านตู้ ATM หรือ CDM เน้นให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว คาดว่าประกาศจะออกประกาศได้ในวันจันทร์นี้ หรือภายในสัปดาห์นี้ คงจะมีการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มี 3 กลุ่มทุนใหญ่ที่ประกาศจะเข้ายื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ได้แก่ กลุ่มแรก บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มที่สองกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และกลุ่มที่สาม แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” และพันธมิตร

โดยกลุ่มแรกคือ SCB และพันธมิตร โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า พร้อมเดินหน้าจัดตั้งธนาคารไร้สาขา ดังนั้น SCB ได้ดึงพันธมิตรด้านเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วมลงทุนการจัดตั้ง Virtual Bank ครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ SCB ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา โดย SCB ได้เปิดตัว KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ที่เข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย 20%

“ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กร ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง” นายอาทิตย์ กล่าว

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง “เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) หรือ “ธนาคารไร้สาขา”

โดยนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศเกณฑ์ออกมาเร็ว ๆ นี้ ตอนนี้พันธมิตรแต่ละรายอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนของ “เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) จะเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดเจนหลังเกณฑ์ออกมาอีกครั้ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า กรุงไทยตั้งใจจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่พร้อมยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank รายแรก ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนาม MOU กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน)

ทั้งนี้ KTB ถือว่ามีความพร้อมเรื่องระบบการเงินอยู่แล้ว และมีฐานลูกค้าผ่าน 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่ Krungthai Connext, เป๋าตัง และถุงเงิน อยู่ประมาณ 40 ล้านราย ซึ่งหากรวมกับฐานลูกค้าเอไอเอส 50 ล้านรายแล้ว จะเท่ากับ 90 ล้านราย

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การจัดตั้ง Joint Venture ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำ Virtual Bank ครั้งนี้ มองว่าถือเป็นการแก้โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SME) ที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินได้ เนื่องจากต้องแสดงหลักฐานต่าง ๆ มากมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในแบงก์พาณิชย์ตามปกติ ขณะที่โออาร์ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนแก้โจทย์ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีอีโค่ ซิสเท็มขนาดใหญ่ ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมัน (พีทีที สเตชั่น) มีร้านค้ามากมาย, ร้านคาเฟ่อเมซอน รวมทั้งสมาชิก Blue Card ประมาณ 8 ล้านคน

ดังนั้น OR จึงเห็นปริมาณการใช้จ่ายของลูกค้า การจ่ายค่าเช่าว่าตรงเวลาหรือไม่  โดยเฉพาะลูกค้าสถานีบริการน้ำมัน ที่ต้องการแหล่งเงินทุนในอนาคต เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ก็สามารถรับประกันได้ว่าลูกค้าดังกล่าวมีฐานะทางการเงินดี เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับเวอร์ชวลแบงก์

นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ หัวหน้าแผนกงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเรื่อง Virtual bank ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างรอประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งมองว่า Virtual bank เป็นส่วนหนึ่งของ Digital Service ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทได้ในอนาคต

ส่วนกลุ่มที่สามคือ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ของกลุ่มซีพี-ทรู ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และพันธมิตร เตรียมยื่น License ในการตั้งเป็น Virtual Bank เช่นกัน ปัจจุบันทรูมันนี่มีฐานผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคน

ทั้งนี้ ทรูมันนี่มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เข้าเกณฑ์ของธปท. ที่จะสามารถเปิดให้บริการและควบคุมความเสี่ยงได้ ทั้งมีระบบไอทีที่ดี มีประสบการณ์ด้านดิจิทัลชาแนล และฐานข้อมูลแข็งแรง ปัจจุบันบริการทรูมันนี่ก็คล้ายกับธนาคารอยู่แล้ว โดย Virtual Bank ค่อนข้างจะมีประโยชน์ ต้นทุนการให้บริการน่าจะลดลง ขยายรับความเสี่ยงในการขยายไปปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น

ด้านน.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงความคืบหน้าของการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ว่า ภายหลังจากวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ธปท.นำส่งร่างหลักเกณฑ์ให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้คาดว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติหลักเกณฑ์ และประกาศหลักเกณฑ์ลงราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือนมีนาคม 2567 และเปิดรับสมัครผู้สนใจในเดือนเดียวกัน โดยมีระยะเวลาการเปิดรับสมัครเป็นเวลา 6 เดือน

หลังจากนี้ ธปท.จะพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ายื่นใบสมัคร 9 เดือน และประกาศผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ได้ช่วงกลางปี 2568 โดยจำนวนเวอร์ชวลแบงก์ทั้งสิ้น 3 ราย และมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จากนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาในการเตรียมตัวเป็นเวลา 1 ปี และคาดว่าจะดำเนินการธุรกิจได้ภายในปี 2569

โดยธปท.จะพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้จัดตั้ง Virtual Bank นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ และนำเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อรมว.คลัง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 9 เดือน ทั้งนี้ในเบื้องต้นธปท.คาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำนวนไม่เกิน 3 ราย

ทั้งนี้ จะต้องจัดตั้งในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ และต้องมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย และไม่อนุญาตให้จัดตั้งสาขา หรือบริการผ่านตู้ ATM หรือ CDM เหมือนรูปแบบเดิม โดยต้องให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

Back to top button