“ภูมิธรรม” มั่นใจ ONEMAP จบปัญหา “ที่ดินทับซ้อน” สคทช. เตรียมใช้ Block chain สำรวจพื้นที่

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธานเปิดงาน “3 ปี สคทช. พัฒนาต่อยอด การบริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน” พร้อมย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญการจัดสรรที่ดินทำกิน และลดความเหลื่อมล้ำผ่าน ONEMAP จัดการปัญหาพื้นที่พิพาทที่มีแผนที่ทับซ้อน โดยใช้ Block chain ในการสำรวจพื้นที่ให้เกิดความโปร่งใส


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (4 มี.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานโครงการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจภารกิจและผลการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “3 ปี สคทช. พัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน” เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ และผลการดำเนินงานที่สำคัญของ สคทช.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. รวมถึงการมอบเอกสารสิทธิที่ดินทำกิจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 44 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินเพิ่มเติม

นายภูมิธรรม ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ยากไร้  ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชนผ่านการจัดทำนโยบายในการเร่งรัดจัดหาที่ดินทำกิน เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ ตลอดจนพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดความมั่นคงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ  “สคทช.” จึงถือเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว ผ่านกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ รวมถึงการส่งต่อไปยังลูกหลาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญและเร่งรัดจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 ของ สคทช. หรือที่รู้จักกันในชื่อ ONEMAP ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างเต็มศักยภาพและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงขอฝากให้ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันทำงานอย่างเข้มแข็ง เร่งรัดขับเคลื่อนการจัดที่ดินให้ประชาชน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ต่อยอดให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือ

ด้าน ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สคทช. ว่า สคทช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคทช. ที่ผ่านมาในช่วงแรกจะเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินงานพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ และการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้หลักการ One Land One Law ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 44 จังหวัด และปัจจุบันกำลังดำเนินการในกลุ่มที่ 5 ครอบคลุมจังหวัดในภาคใต้

สำหรับการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐตามมาตรการของ คทช. ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สามารถแก้ไขปัญหาได้ข้อยุติให้กับประชาชน 495 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 1,233 ราย โดยมีการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ 1,234 แปลง การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยมิให้กรรมสิทธิ โดยให้หนังสืออนุญาตทำกินและสามารถตกทอดสู่ทายาทได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 1,582 พื้นที่ ในเนื้อที่ 5.89 ล้านไร่ มีการออกหนังสืออนุญาตแล้ว 2.6 ล้านไร่ และมีการจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วประมาณ 86,000 ราย รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (Big Data Platform)

ทั้งนี้ สคทช. มีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยการใช้เทคโนโลยี Block chain  ในการปรับปรุงแผนที่ One Map เพื่อเกิดความโปร่งใส และการพัฒนาแผนที่ Digital เพื่อให้เกิดความทันสมัยและถูกต้องแม่นยำ การนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ และการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ คทช. ให้สอดล้องกับความต้องการของตลาดและมาตรฐานสากล รวมทั้ง การเตรียมการเพื่อรองรับระเบียบการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ได้ขับเคลื่อนแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำสมุดประจำตัวผู้ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐในการประกอบอาชีพได้

Back to top button