“พาณิชย์” เปิดตัวเลข “เงินเฟ้อ” ก.พ. ลดลง 0.77% ติดลบเดือนที่ 5
กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวเลขเงินเฟ้อก.พ. ลดลง 0.77% ลบต่อเนื่องเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำพร้อมคาดแนวโน้ม Q1 ยังติดลบ แต่มีโอกาสพลิกบวกพ.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 มี.ค. 67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.พ.67 เท่ากับ 107.22 ลดลง 0.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดจะลดลง 0.80%
โดยเงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 66
ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.67) ลดลง 0.94%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.พ.67 เพิ่มขึ้น 0.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 0.47%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/67 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเม.ย. โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อ กลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. หลังจากที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ จะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.
“ไตรมาสแรกปีนี้ เงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบ 0.7-0.8% ยังลดลงต่อเนื่องไปถึงเม.ย. และน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. จากเหตุของฐานที่ต่ำในเดือนพ.ค.66 และมาตรการค่าครองชีพจะทยอยสิ้นสุดในเดือนเม.ย. แต่เราก็ยังต้องติดตามว่าจะมีต่อหรือไม่” นายพูนพงษ์ ระบุ
ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.67 มีรายการสินค้าและบริการที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อนหน้า (ม.ค.67) ดังนี้
1.สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น 143 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ขนมปังปอนด์, ไก่สด, ผักคะน้า, มะนาว, กล้วยหอม, น้ำมันเชื้อเพลิง และสุรา เป็นต้น
2.สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 107 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไข่ไก่, นมผง, ผักบุ้ง, พริกสด, ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เป็นต้น
3.สินค้าและบริการที่ราคาคงที่ 180 รายการ เช่น ค่าน้ำประปา, ก๊าซหุงต้ม, ค่าไฟฟ้า, ค่าบริการจอดรถ, หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ต่ำเป็นอันดับ 4 จาก 135 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีการประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับทิศทางเงินเฟ้อเดือนแรกของปี 67 ที่หลายประเทศมีอัตราชะลอตัวลง
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.67 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยดังนี้
1. มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาท/หน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน และที่ 4.18 บาท/หน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย.67
2. ฐานราคาที่สูงในปี 2566 ของเนื้อสุกร และผักสด
3. เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่
- สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
- เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น
- สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
- การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ของปี 67 จะอยู่ระหว่าง -0.3 ถึง 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนใหม่อีกครั้ง