“คลัง” ชี้อสังหาฯปีนี้ฟื้น จับตามาตรการ “ภาษีที่ดิน-ปลูกสร้าง” หนุนคนซื้อ-คนขาย

“คลัง” ชี้อสังหาริมทรัพย์ปีนี้ฟื้น รับ 7 มาตรการภาครัฐหนุน จับตาปรับมาตรการ “ภาษีที่ดิน-ปลูกสร้าง" เพื่อตอบสนองผู้ผลิต-ผู้ซื้อ ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ


นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” ในงานสัมมนาประจำปี 2567 “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจไทย” ว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐเห็นความสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไปได้ โดยแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากผลการสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ และการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง

ขณะเดียวกัน มีสัญญาณที่ต้องระมัดระวัง ทั้งเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศเอง เช่น ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อของประเทศ จึงทำให้ต้องระมัดระวังผลของเศรษฐกิจภาพรวม

สำหรับกระทรวงการคลัง มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมาตรการด้านภาษี และมาตรการเงินที่สำคัญในปี 2567 ดังนี้

ส่วนมาตรการด้านภาษี ได้แก่ 1. “ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืม” สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้

2.”การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ร้อยละ 90 ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง

3.”การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

4.”การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน

5.”มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย” ลดค่าจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ที่จดทะเบียนในปี 2567

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยจะมีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาภาษีให้ตอบสนองผู้ผลิต ผู้ซื้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

“ภาษีที่ดิน จะต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประเด็นเชิงรายละเอียดทั้ง อัตรา ความเหมาะสม และครอบคลุม โดยจะศึกษาร่วมกับมหาดไทย ให้เป็นผลบวกต่อภาคเอกชน และประชาชนมากที่สุด เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน คิดว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยยังอ่อนแอ ก็ไม่ควรเอาภาษีมาซ้ำเติมประชาชน” เลขานุการ รมว.คลัง ระบุ

ส่วนมาตรการทางการเงิน ได้แก่ 1. “โครงการบ้านล้านหลัง” สนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี

2. “โครงการสินเชื่อ Happy Life” สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.98% ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ 1.95% ต่อปี

ส่วนการขอปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) นั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตลอด แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ทั้งนี้ ยืนยันว่า มาตรการ LTV หรือมาตรการต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถมองว่าเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนคนก่อหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงได้ในมิติเดียว แต่ควรมองภาวะเศรษฐกิจที่จะเป็นผลบวกต่อการขยับมาตรการ

“การมองในมุมระมัดระวัง ก็จำเป็น แต่ต้องไม่กระทบศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องรักษาสมดุล ปัจจุบัน ปัญหาบ้านขายไม่ออก เพราะ Supply หลังโควิดมีมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ กำลังการผลิตก็ปรับตัว ของใหม่ก็ลดลง ซึ่งเป็นการปรับตัวตามกำลังซื้อที่เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้น ภาครัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งกลไกตลาด แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้กลไกเกิดขึ้นได้เร็ว ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการด้านการเงิน ให้ตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายเผ่าภูมิ กล่าว

พร้อมมองว่า ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่มีฐานะแข็งแกร่ง จึงยังไม่เป็นกลไกในการผลักดันภาวะเศรษฐกิจที่ดีพอ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนา สนับสนุนให้เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

“ต้องมีการคุยกัน และหาจุดสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับศักยภาพ มีเสถียรภาพแต่ไม่มีศักยภาพ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีความสมดุล เพราะอิงเสถียรภาพมากกว่า” นายเผ่าภูมิ ระบุ

Back to top button