ก.ล.ต. ร่วมประชุม “IOSCO” ผนึกกำลัง “เอเชีย-แปซิฟิก-ยุโรป” ยกระดับตลาดทุน
ก.ล.ต. ไทยร่วมประชุม IOSCO หารือแลกเปลี่ยนหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ดึงเทคโนโลยีมาใช้ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคยุโรป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมประชุม IOSCO Asia-Pacific Regional Committee (APRC), EU-Asia Pacific Regulatory Forum, SFC Regional Securities Regulatory Leadership Symposium และ ASIFMA Gala Dinner โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลและผู้นำจากภาคธุรกิจ ร่วมหารือประเด็นสำคัญและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนที่ท้าทาย รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคยุโรป เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2567 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
โดยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมเสวนาในงาน SFC Symposium ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 หัวข้อ ‘Intersection of Fintech and AI in Wealth Management’ โดยกล่าวถึงกรอบการกำกับดูแลการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ภายใต้บริบทของตลาดทุนไทย ซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐานสากลขององค์กรกำกับดูแลตลาดทุนสากล (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นธรรม ความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักจริยธรรม ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส
นอกจากนี้ นางพรอนงค์ยังได้รับเกียรติในการกล่าวเปิดงาน ASIFMA Gala Dinner ซึ่งจัดขึ้นก่อนเริ่มงาน ASIFMA Annual Conference โดยกล่าวถึงโอกาสในการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ลงทุน และการให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของตลาดทุนไทย
สำหรับการประชุม APRC และ EU-Asia Pacific Regulatory Forum ซึ่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้นำคณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การกํากับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือเพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากสินทรัพย์เสมือนจริง (virtual assets) ภัยคุกคามทางออนไลน์ (online harm) การฟอกเขียว (greenwashing) และการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) การกำกับดูแลภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล (RegTech/SupTech) เป็นต้น รวมถึงการเดินหน้าเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดทุนให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ APRC ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 33 องค์กร จาก 28 ประเทศ