DMT ส่งซิกปี 67 ยอดเก็บ “ทางด่วน” พุ่ง ลุยชิงเค้กงานภาครัฐ 5 โครงการ
DMT ตั้งเป้าปี 67 ยอดใช้ทางด่วนเติบโต 10% หลังประมาณการเฉลี่ยทั้งปีไว้ที่ 116,000 คันต่อวัน พร้อมเดินหน้าประมูลงานทางด่วน 5 โครงการ พร้อมกางแผนไตรมาส 2/67 ติดตั้งสถานีชาร์จ EV ด่านดินแดง 13 ช่อง พร้อมร่วมทุน (JV) ปัจจุบันมีที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจรในมือแล้วประมาณ 1-2 ดีล
นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการและกรรมการ บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน (Opportunity Day) จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ว่าผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,003.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 780.58 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้รวมค่าผ่านทางทั้งปีจำนวน 2,324.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,832.08 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของทางด่วนอยู่ที่ 10% ซึ่งในเดือนมกราคม 2567 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 101,000 คันต่อวัน และเดือนกุมภาพันธ์ประมาณการใช้อยู่ที่ 101,500 คันต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับการประมาณการเฉลี่ยทั้งปีตั้งไว้ที่ 116,000 คันต่อวัน
นอกจากนี้ ภาพรวมธุรกิจการทางพิเศษดอนเมืองโทวเวย์เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองนั้นมีปริมาณการใช้งานที่ลดลง จากช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีปริมาณรถยนต์ที่ลงจากทางด่วนประมาณ 15,000 คันต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือปริมาณ 6,000 คันต่อวัน สาเหตุมาจากสนามบินดอนเมืองในโซนอาคาร 1 เที่ยวบินระหว่างประเทศยังไม่สามารถเปิดบริการได้เต็มรูปแบบ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ารายได้หายไปประมาณ 200 ล้านบาท แต่ถือว่าดีขึ้นจากช่วงโควิด-19 ระบาด ที่มีปริมาณการใช้บริการอยู่ที่หลักร้อยคันเท่านั้น
นายศักดิ์ดา กล่าวอีกว่า บริษัทได้มีการเพิ่มกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 7 ด้าน และมีการมุ่งศึกษาธุรกิจใหม่มากขึ้น โดยในปี 2567 บริษัทมีแผน 2 โครงการที่กำลังดำเนินการทดสอบ อาทิ เครื่องชำระค่าผ่านทางในช่วงเร่งด่วนด้วย “อิเล็กทรอนิกส์เพเม้น” และโคงการทดสอบระบบ M-Flow หรือการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ซึ่งจะนำมาใช้ในทางด่วนดอนเมือง และใช้ในโครงการอื่นๆ ในอนาคต สำหรับทั้ง 2 โครงการยังสามารถช่วยควบคุมต้นทุนของบริษัทได้
นอกจากนี้บริษัทยังมีการต่อยอดในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ EV โดยเริ่มที่สำนักงานใหญ่ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/2567 จะมีการติดตั้ง สถานีชาร์จรถยนต์ EV ที่ด่านทางด่วนดินแดงประมาณ 13 ช่อง พร้อมกับเข้าร่วมมือกับ บริษัท สไมล์ลี่ แอสซิสแตนซ์ (ประเทศไทย) จำกัดเพื่อให้บริการกรณีผู้ใช้รถยนต์เสียขณะเดินทางอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทมีการเข้าประมูลงานภาครัฐ อาทิ โครงการ (M5) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ซึ่งจะมีลักษณะการประมูล (PPP) Gross Cost โดยอยู่ระหว่างการเตรียมการประมูล, โครงการ (M82) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้วโดยมีการดำเนินการสร้างไปเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะเข้าประมูลในส่วนการติดตั้งระบบต่างๆ โดยประมาณการลงทุนที่ 1-2 พันล้านบาท และโครงการ (M9) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก
ขณะเดียวกันยังมีโครงการพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมการประมูลเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าบริษัทจะดำเนินงานเต็มที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งการส่งมอบ การบริการ เพื่อตอกย้ำการเป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนตลาด 10 ปี
นายศักดิ์ดา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทวางงบลงทุนในปี 2567 อยู่ที่ 168 ล้านบาท แยกเป็น 1.ศึกษาวิจัยในการเทคโนโลยีทางยกระดับและงานโครงการต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วย 2.ลงทุนจัดซื้อทางด้านเทคโนโลยีทรัพย์สินใหม่ เพื่อทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และ 3.ลงทุนบำรุงทางยกระดับตามแผนงานตามหลักวิศวกรรม
ขณะเดียวกันในปี 2567 บริษัทยังให้ความสนใจและมุ่งเน้นในการลงทุนธุรกิจอื่นๆ โดยมีความเป็นไปได้ทั้งรูปแบบการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) ปัจจุบันมีที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจรในมือแล้วประมาณ 1-2 ดีล เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในช่วงกลางปีนี้จะได้เห็นข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างน้อย 1 ดีล