“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2.8% กำลังซื้อหดตัว-หนี้ครัวเรือนสูง

"ศูนย์วิจัยกสิกรฯ" ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 หั่น GDP เหลือ 2.8% จากเดิม 3.1% หลังอุปสงค์ในประเทศยังแผ่วลง ขณะที่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงหลายเดือนติดต่อกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (12 มี.ค.67) นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.1% จากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสโตถึง 36 ล้านคนในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปี 67 ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 0.8%

ด้านเศรษฐกิจโลกปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกับปี 66 การค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับลดลงจากเงินเฟ้อที่กำลังปรับลดสู่เป้าของธนาคารกลางทั่วโลก

ส่วนจีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับลด และผู้ประกอบการจีนยังคงลดราคาสินค้าต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประเมินว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีอยู่ และได้ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ตลาดการเงินมองว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. 67

ทั้งนี้ ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่ยังเข้มข้น แนวโน้มการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอย่าง AI ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก ส่วนประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ มากมาย จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Center หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ มีกุญแจสำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิง Green Economy เข้ามา เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Back to top button