ส่อถังแตก! “ประกันสังคม” เล็งขยายเพดานเงินสบทบ 17,500-20,000 บาท เกษียณอายุ 65 ปี

“ประกันสังคม” จ่อขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเป็น 17,500-20,000 บาท และขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตนเป็นอายุ 65 ปี


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าหารือร่วมกับบริษัทการลงทุน AllianceBernstien Asset Management (Korea) Ltd. เพื่อนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนกลับเข้าสู่กองทุน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สปส.ได้นำเงิน กองทุนประกันสังคม ไปลงทุนใน 8 กองทุนที่มีความมั่นคงสูง โดยบริษัท AB เป็นบริษัทจัดการบริหารกองทุนของเกาหลี โดยมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางประกันสังคมได้ลงลงทุนผ่านบริษัทเอเยนซีในประเทศสิงคโปร์ด้วยเงินลงทุนราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการลงทุนปีที่ผ่านมามีผลประกอบการอยู่ที่ร้อยละ 4.79 ในเป้าหมายการลงทุนร้อยละ 4 ดังนั้นก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ แต่การที่จะบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนและหลุดออกจากการคาดการณ์ของไอแอลโอ (ILO) และทีดีอาร์ไอ (TDRI) รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ และความกังวลผู้ประกันตน ที่ระบุว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการบริหารกองทุนหรือเพิ่มมาตรการใดๆ ในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือในปี 97 กองทุนประกันสังคมจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ทั้งนี้ ประกันสังคมจำเป็นต้องบริหารกองทุนโดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนต่างๆ ให้มีผลตอบแทนมากกว่าเป้าหมายเดิม โดยผลตอบแทนจะต้องได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ตามนโยบายที่ผมได้ประกาศไว้ ประกอบกับการทำมาตรการอื่น ได้แก่

1.การขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน จากเดิมเพดานการจ่ายเงินสมทบจะคิดจากเดือนที่ 15,000 บาท ก็จะต้องขยายเพดานไปที่ 17,500 บาทไปจนถึง 20,000 บาท

2.การขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตนจากเดิมที่ 55 ปีก็ขยับไปที่ 60 ปีไปจนถึง 65 ปี

3.การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 โดยเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เป็นแรงงานอิสระ ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเพียง 11 ล้านคน เราจะต้องจูงใจให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้ามาสู่มาตรา 40 ให้ใกล้เคียง 25 ล้านคนให้มากที่สุด

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ตามระเบียบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดว่าการนำเงินกองทุนไปลงทุนนั้นจะต้องแบ่งสัดส่วนเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำร้อยละ 60 เช่น ฝากธนาคารของรัฐ การซื้อพันธบัตร และความเสี่ยงสูงร้อยละ 40 โดยที่ผ่านมาประกันสังคมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงประมาณร้อยละ 25 ซึ่งยังไม่เต็มเพดานร้อยละ 40 ตนจึงเชื่อมั่นว่าหากมีการลงทุนอย่างเต็มเพดานก็จะเป็นการขยายขยายโอกาสให้มีการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น

Back to top button