TRUBB นำทีมบวกคึก 14% รับราคายางพุ่ง 90 บาท/กก. นิวไฮรอบ 7 ปี
TRUBB- TEGH- NER- STA บวกคึก! รับราคายางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 90/กิโลกรัม สูงสุดในรอบ 7 ปี และคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 มี.ค. 67) ราคาหุ้นกลุ่มยางพาราปรับตัวแรงตามทิศทางของราคายางพาราเพิ่มขึ้นทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 85 เดือน (7 ปี 1 เดือน) นำโดย บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB ราคาหุ้น ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 1.58 บาท บวก 0.19 บาท หรือ 13.67 % สูงสุดที่ระดับ 1.66 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.41 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 85.85 ล้านบาท
บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH ราคาหุ้น ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 3.44 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 2.99% สูงสุดที่ระดับ 3.48 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.38 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12.09 ล้านบาท
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ราคาหุ้น ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 6.10 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 1.67% สูงสุดที่ระดับ 6.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.05 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.08 ล้านบาท
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ราคาหุ้น ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 20.00 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 1.01% สูงสุดที่ระดับ 20.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.70 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 90.80 ล้านบาท
ด้าน น.ส.อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ราคายางที่ซื้อขายผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พุ่งทะลุ 90 บาทไปแล้ว ซึ่งราคาซื้อขายยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 90.09 บาท/กก. ถือเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 85 เดือน (7 ปี 1 เดือน) โดยปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นต่อไป
“ราคายางที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปี ถือเป็นการขับเคลื่อนแนวทางตามนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นผลงานในรอบ 6 เดือน ให้เกิดเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและประชาชนร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน อันจะนำประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” น.ส.อัยรินทร์ กล่าว
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กำชับให้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. มุ่งดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา โดยสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร ผ่านกระบวนการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นฐานการการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2593 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียน ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี 2608
โดยยางพาราที่เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสามารถช่วยลดการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกได้ จึงเป็นแนวทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจากการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยาง โดยหากคำนวณจากพื้นที่สวนยางในประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ สามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 80 ล้านตัน โดยใช้สูตรการคำนวณแอลโลแมตรี ตามที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือกระจก (องค์การมหาชน) กำหนด คิดเป็นรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต รวมเป็นมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท (ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต เฉลี่ย 300 บาท/ตัน )