SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือโต 2.7% หลังภาคผลิต-แรงงานหดตัว
SCB EIC มองการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 67 หดตัวเหลือ 2.7% จากเดิม 3% หลังภาคการผลิตและแรงงานลดลง ขณะที่มองคณะกรรมการนโยบายการเงิน เตรียมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง จากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาที่ 2% ในครึ่งปีแรก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยยว่า ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งมุมมองปรับดีขึ้นจากแรงส่งที่ดีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ โดยกิจกรรมในภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ กิจกรรมในภาคการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวจากที่หดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงกดดันจากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้ง
ทั้งนี้ ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มปรับทิศการใช้นโยบายการเงินไตรมาส 2 ปี 2567 ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 0.75% ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป และ ธนาคารกลางอังกฤษ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวม 1% ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 0.2% ซึ่งเป็นการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ขณะที่ ธนาคารกลางจีน จะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เหลือ 2.7% (เดิม 3%) แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยว และภาคบริการรวมถึงเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อื่นที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในหลายองค์ประกอบ
โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่แรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ประกอบกับปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้าต่อเนื่องมาในปีนี้
ในส่วนของเงินเฟ้อไทยที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน SCB EIC ประเมินว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด ซึ่งเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่เดือน พ.ค. เนื่องจาก มาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจะสิ้นสุดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในประเทศที่จะเริ่มปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงท่ามกลางความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักจากสถานการณ์ทะเลแดง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึง นโยบายควบคุมการส่งออกของบางประเทศที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวและน้ำตาล เงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีจึงจะเร่งกลับไปแตะกรอบเงินเฟ้อได้ และ SCB EIC ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 อยู่ที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ
อีกทั้ง ในระยะยาวปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทยที่รุนแรงขึ้นยังกดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากประมาณการในอดีต ซึ่งประมาณการศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2560 – 2562) อยู่ที่ระดับ 3.4% ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตต่ำลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3% ประเมิน ณ เดือน ธ.ค. 2566) ซ้ำเติมเทรนด์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่มีทิศทางลดลงอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุหลัก คือ
1.ผลิตภาพการผลิต (Total factor productivity) ของไทยต่ำลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
2.ปัจจัยทุน (Capital) ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง และความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ของไทยต่ำลงหากเทียบประเทศ
ในภูมิภาคอาเซียน
3.ปัจจัยกำลังแรงงาน (Labor) ที่มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปี 2567 เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม หลังการ Recalibrate กลไกการทำนโยบายการเงินจากปัจจัยเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่รุนแรงขึ้นและประเมินนัยต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) ที่ต่ำลง
โดย SCB EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.1% แล้ว (จากระดับเดิม 2.5%) ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการปรับ Stance ของนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปได้ทันสถานการณ์แล้ว จะยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง
ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เนื่องจาก ปัจจัยต่างประเทศมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากแล้วเงินบาท ณ สิ้นปีมีแนวโน้มแข็งค่าในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามการลดดอกเบี้ยของ “เฟด” และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
มองไปข้างหน้า ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แม้การผลิตในปี 2567 จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากแรงส่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก
รวมถึงความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้า ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอดทศวรรษ
ดังนั้น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน