“ก้าวไกล” เสนอร่างแก้ไขรธน.ให้ “ส.ส.ร.” เลือกตั้ง 100%
พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง “ส.ส.ร.” 100% กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัครที่ 18 ปี หวังประธานรัฐสภาทบทวนการตัดสินใจและบรรจุเข้าวาระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 100% มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานผู้แทนราษฎร โดยมีนายมุข สุไลมาน เป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับหนังสือแทน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า คณะกรรมการศึกษาที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลสรุปเมื่อ ธันวาคม 2566 เพื่อเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการทำประชามติ 3 ครั้ง แต่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งเริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อ ม.ค.2567
“เราเข้าใจเหตุผลในเชิงการเมืองที่ทำให้หลายฝ่ายมองถึงความจำเป็นในการจัดประชามติ 3 ครั้ง แต่เรายืนยันว่าตลอดว่าหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดประชามติเพียง 2 ครั้ง เพียงพอแล้วในเชิงกฎหมาย” นายพริษฐ์ กล่าว
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. ฉบับก้าวไกล เป็นการเพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และแก้ไข มาตรา 256 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) โดยมีสาระสำคัญได้แก่
1.จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย ส.ส.ร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 100 คนแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และอีก 100 คน แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง
2.กำหนดให้ ส.ส.ร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
3.กำหนดให้ ส.ส.ร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ ในขณะที่ไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อ จนทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้าจนเกินไป
4.กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร ส.ส.ร. ไว้ที่ 18 ปี
5.กำหนดให้ ส.ส.ร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วย ส.ส.ร. ไม่น้อยกว่า 2/3 ของจำนวนกรรมาธิการ เพื่อให้ กมธ. มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ และเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ ส.ส.ร. คัดเลือกและอนุมติ เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง
6.กำหนดให้มีการจัดทำประชามติ หลังจากที่ ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ เพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
7.กำหนดให้ ส.ส.ร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ พ.ร.ป. ฉบับไหนของ ส.ส.ร. รัฐสภาจะมีอำนาจรับไปทำต่อเอง
8.กำหนดให้ ส.ส.ร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภา หรือจากการที่สภาหมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ ส.ส.ร. ในการทำงาน และของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9.กำหนดให้ ส.ส.ร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
10.ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256) โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หากได้รับความเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ได้รับความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะในกรณีที่เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. ที่เสนอโดย ส.ส. เพื่อไทย เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติก่อนเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาในมุมมองของพรรคก้าวไกล การกระทำดังกล่าวของประธานรัฐสภา เป็นการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจที่เราไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าวและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.ร. ของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากการเสนอร่างทั้ง 2 ร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ไม่ได้เป็นขั้นตอนหรือมีเนื้อหาสาระส่วนไหนที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่เพียงกำหนดไว้ว่าให้มีประชามติ 1 ครั้งก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชามติ 1 ครั้งหลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่