BA ปักหมุดปี 67 เป้ารายได้ 1.78 หมื่นลบ. เร่งยอดผู้โดยสารโต 10% แตะ 4.5 ล้านคน
BA กางแผนปี 67 ยอดผู้โดยสารโต 10% แตะ 4.5 ล้านคน เที่ยวบินแตะ 4.8 หมื่นไฟลท์ Load Factor 85% และมีรายได้ผู้โดยสารราว 1.78 หมื่นล้านบาท เตรียมปรับปรุงสนามบิน-หาเครื่องบินเพิ่มเป็น 25 ลำ รับดีมานด์ท่องเที่ยวฟื้น
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 15 มี.ค.67 ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในประเทศ 2566 ที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ทั้งในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นผู้โดยสารขาเข้ามายังไทย
โดยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 21,732.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12,742.10 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้ผู้โดยสารทั้งขาเข้าและที่สนามบินสมุย สัดส่วน 63%, ประเทศ CLMV สัดส่วน 10% และเส้นทางอื่นๆในประเทศอีก 25% ของทั้งหมด ซึ่งเป็นแรงหนุนให้บริษัทสามารถพลิกมีกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 3,108.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 246.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2,125.90 ล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) อยู่ที่ 4,782.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 214.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,519.50 ล้านบาท
สำหรับการเติบโตของทั้งรายได้และกำไรนั้น มาจากกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทที่ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ ธุรกิจสายการบินโดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารจากสนามบินสมุยเติบโต 67% เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศยุโรปและ Middle east และกลุ่มเอเชียและ Australasia ส่วนสนามบินสุโขทัย มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 39% และสนามบินตราด จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 69% โดยบริษัทก็มีการจัดการจำนวนเที่ยวบินเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับจำนวนความต้องการผู้โดนสารที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีฝูงบินคงเหลือทั้งหมด 24 ลำ เนื่องจากบริษัทขายเครื่องบินบางส่วนออกไป และเครื่องบินส่วนอื่น เป็นการส่งมอบเครื่องบินเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ขณะเดียวกันในปี 2566 บริษัทมีจุดหมายปลายทางทั้งหมด 20 จุด แบ่งออกเป็นจุดหมายในประเทศ 12 จุด และระหว่างประเทศ 8 จุด และมี 23 เส้นทางการบิน แบ่งออกเป็นในประเทศ 17 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 6 เส้นทาง โดยบริษัทให้บริการเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางลำปาง – แม่ฮ่องสอนมีเที่ยวบินเฉลี่ย 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางสมุย-ดอนเมือง มีเที่ยวบินเฉลี่ย 3 เที่ยวบินต่อวัน รวมถึงมีการเปิดเส้นทางบินที่หยุดบินไปแล้วเมื่อช่วงวิกฤตโควิด 19
ส่วนธุรกิจสัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย 1. ครัวการบิน มีจำนวนอาหารส่งขึ้นเครื่อง 6 ล้านมื้อ จำนวนลูกค้าที่เป็นสารการบิจำนวน 23 ราย ส่งผลให้รายได้รวมอยู่ที่ 954 ล้านบาท 2. บริการภาคพื้น มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 90 สายการบิน และมีจำนวนเที่ยวบินให้บริหารอยู่ที่ 6,555 ไฟลท์ และมีรายได้ทั้งสิ้น 2,822 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 529 ล้านบาท และ 3. คลังสินค้าระหว่างประเทศ บริษัทมีลูกค้าสายบินจำนวน 86 สายการบิน และมีรายได้รวม 2,341 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไร 995 ล้านบาท
“ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับการลดหนี้สิน สำหรับในปี 2566 บริษัทมีหนี้สินต่อทุนปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.4 เท่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.7 เท่า เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้ช่วยใช้จ่ายหนี้สินของบริษัทได้ ”นายอนวัชกล่าว
นายอนวัช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทมองเห็นแนวโน้มของภาคท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวขึ้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 จากนโยบายภาครัฐที่เอื้อหนุนและยอดนักท่องเที่ยวเข้า โดยวางเป้าหมายว่าในปีนี้ บริษัทจะมีจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ระดับ 48,000 เที่ยวบิน, อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 85%, จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 4,500,000 คน เติบโต 10% และรายได้จากผู้โดยสารจะอยู่ที่ 17,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 บริษัทจะมีจำนวนเครื่องบินทั้งสิ้น 25 ลำ โดยรับเครื่องบิน AIRBUS A319 เข้ามาอีก 2 ลำ มีการส่งคืนเครื่องบิน AIRBUS A320 ออกไป 1 ลำเนื่องจากครบกำหนดสัญญาเช่า
ทั้งนี้เชื่อว่าในปี 2567 จะเป็นปีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งโดยมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะการปรับปรุงสนามบิน และจัดหาฝูงบินใหม่อย่าระมัดระวังในการสั่งซื้อเครื่องบินเข้ามา ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการจัดหาเครื่องบินเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการในเดินทางของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในปีนี้
ส่วนความคืบหน้าสนามบินอู่ตะเภา ที่บริษัทร่วมลงทุนกับรัฐบาลตั้งแต่ 2563 ช่วงที่มีการระบาดของโควิด ซึ่งบริษัทดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการฝั่งภาครัฐต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ รัฐได้เปิดประมูลรันเวย์ 2 และมีเงื่อนไขที่ภาครัฐต้องดำเนินการอื่น โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน ส่วนเงินลงทุน บริษัทจำเป็นทราบรายละเอียดการออกแบบทั้งหมดก่อนที่จะแจ้งจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด
“อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขายสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้ากองทุน BAREIT และปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแผนลดสัดส่วนการถือหุ้น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ BDMS เพิ่มเติม” นายอนวัชกล่าว