ม.หอการค้าฯ หั่น “จีดีพี” ปี 67 เหลือ 2.6% ลุ้น “ธปท.” ลดดอกเบี้ยเม.ย.นี้
“นายธนวรรธน์ พลวิชัย” ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือ 2.6% หลังได้รับปัจจัยลบจากการค้าโลกมีแนวโน้มโตต่ำคาด รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ขณะที่คาด “ธปท.” อาจลดดอกเบี้ยเดือน เม.ย.67
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (19 มี.ค.67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 2.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.2% ในปี 67
โดยหลายหน่วยงานมีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลงไปแล้วก่อนหน้านี้มาจากหลายปัจจัยที่ยังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ จากปัญหาการโจมตีเรือสินค้าผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ
รวมทั้ง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวเช่นกัน รวมถึงสิ่งที่สำคัญ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าประกอบกับงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายงบลงทุนทำได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งนี้จึงได้ลดตัวเลขคาดการณ์ทั้งการบริโภคของภาคเอกชนเหลือ 2.8% จากเดิม 3.2% การบริโภคของภาครัฐเหลือเพียง 1.5% จากที่คาดการณ์เดิม 2.5% รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจจะติดลบ 1% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.7%
ขณะที่ การส่งออกจะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ว่า 3% พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1% จากเดิม 2% รวมถึงสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นถึง 2% จาก 87.8% เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 89.8%
อีกทั้ง มีเพียงรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เพียง 1.4 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปี 67 คาดการณ์ว่าจะกลับมาถึง 35 ล้านคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันสูงขึ้น และจีดีพีภาคเกษตร อาจจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.0% จากเดิม 1.8%
ดังนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 67 ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% โดยในไตรมาสแรกปี 67 ขยายตัวได้เพียง 2% ไตรมาสที่ 2/67 เริ่มฟื้นตัวขยายตัว 2.5% ไตรมาสที่ 3/67 ขยายตัว 3.1% และไตรมาส 4/67 ขยายตัวที่ 2.8%
อย่างไรก็ตาม โดยมองว่าไทยยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้หากมีการเตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐได้ทันทีเมื่อผ่านงบประมาณ และยิ่งใช้จ่ายเงินงบประมาณได้เร็วก็จะยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทุกๆ 1 แสนล้านบาท ของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนภาครัฐ จะมีผลให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 0.68%
รวมถึง มีโอกาสที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้นโยบายทางการเงินมาช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนเมษายนก็สามารถทำได้ เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรกขยายตัวเพียง 0.47% ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย 0.5-3%
นอกจากนี้ หากมีมาตรการการคลังผ่านเงินโอนโดยเฉพาะ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” หากทำเร็วก็ยิ่งมีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยการใช้งบทุกๆ 100,000 ล้านบาทของเงินโอนจะทำให้จีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.26% ประกอบกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจ อาทิ ฟรีวีซ่าชั่วคราวหรือถาวร การเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเพิ่มรายได้จากการส่งออก ซึ่งทุกปัจจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้เกินกว่า 3% เป็นต้น