เปิด 4 หุ้น รับต้นทุน “อาหารสัตว์” ลด ชู CPF เด่น!
ส่อง 4 หุ้น “กลุ่มอาหาร” คาดอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีแนวโน้มดีขึ้น ได้ประโยชน์จากราคาต้นทุนลดลง ชู CPF เด่น! รับสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 62% และมีสัดส่วนส่งออกอีก 6%
บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (21 มีนาคม 2567) ประเมินเกี่ยวกับหุ้นกลุ่มอาหาร คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ระบุว่าในปี 2566 ราคาสุกรในไทยปรับตัวลงจากหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้าประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมประสบภาวะขาดทุน ซึ่งราคาสุกรปรับตัวต่ำสุดในช่วงเดือนตุลาคม และปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนธันวาคม ราคาสุกรเฉลี่ยในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 65.7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยราว 64-66 บาทต่อกิโลกรัมใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะมีการปราบปรามสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง แต่ซัพพลายที่เข้ามาแล้วยังต้องใช้ระยะเวลาทำให้หมดไป แต่ไตรมาส 1/2567 จะได้ประโยชน์จากต้นทุนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นอาหารสัตว์ปรับตัวลง และคาดการณ์ว่าจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2/2567 มองราคาสุกรในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยังคงทรงตัว ซึ่งปัจจุบันสมาคมผู้เลี้ยงสุกรของความร่วมมือผู้ผลิตลดปริมาณลูกสุกรคาดจะมีผลทำให้ซัพพลายลดลงในช่วงปลายปี และราคาสุกรอาจปรับตัวขึ้นได้ในช่วงนั้น
แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดมีข่าวรัฐบาลจะยกเลิกการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านในปีถัดไปเพื่อให้ลดปริมาณการผลิต เพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมฝุ่นควันจากการเผาหญ้าของประเทศเพื่อนบ้าน อาจเห็นต้นทุนข้าวโพดจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันราคาสุกรเวียดนาม 55,000 ดองเวียดนามต่อกิโลกรัม (VND/kg.) ปรับตัวขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ได้ดีซัพพลายลดลงจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เมื่อปีก่อน, ราคาสุกรในจีน 14 หยวนจีนต่อกิโลกรัม (CNY/kg.) ต่ำกว่าต้นทุนผลิตที่ 17-18 CNY/kg.
ขณะที่ปัจจุบันเริ่มเห็น ASF กลับมาระบาดอีกครั้งยังมีความกังวลต่อราคาสุกร, ส่วนราคาสุกรในกัมพูชาปรับตัวลดลงจากหมูเถื่อนเข้าไป ซึ่งการปริมาณบริโภคสุกรของเพื่อนบ้านน้อยกว่าไทย จึงทำให้มีผลกระทบที่รุนแรง ปัจจุบันราคาอยู่ในระดับต่ำอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้ซัพพลายส่วนเกินหมดไป
สำหรับธุรกิจไก่ในไตรมาส 1/2567 ดีมานด์ส่งออกดีขึ้นจากฝั่งยุโรป ต้นทุนการเลี้ยงลดลงเช่นเดียวกับธุรกิจสุกร และได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า
ส่วนราคาทูน่าล่าสุด 1,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน (USD/ton) ปรับตัวลงมาต่ำ ซึ่งมีผลต่อราคาขาย OEM ที่ต้องอิงตามราคาตลาด และปริมาณขายในไตรมาส 1/2567 อาจชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าจากในช่วงไตรมาส 4/2566 ที่ลูกค้าสั่งซื้อกลับเข้าไปแล้ว
ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยชอบ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มากที่สุด มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 62% มีสัดส่วนส่งออกอีก 6% ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินในหลายภูมิภาค ในขณะที่อุตสาหกรรมสุกรได้ประโยชน์จากด้านต้นทุนการเลี้ยงลดลงเหมือนกัน
ส่วนสุกรในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีทั้งเวียดนาม รัสเซียและ Lean hogs futures ที่อ้างอิงจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ปรับตัวได้ดีกว่าสุกรในไทย เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากสุกรเถื่อน และการขายหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำกำไรเมื่อปีก่อน จะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น มีมุมมองเบื้องต้นคาดการณ์กำไรปกติเติบโตเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนได้ดีกว่าอุตสาหกรรม คาดอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ให้น้ำหนักในการลงทุนในหุ้นกลุ่มอาหาร “ลงทุนมากกว่าตลาด”