“ก้าวไกล” ซักฟอก “ก.พลังงาน” ส่อทุจริตงบ 441 ล้าน สร้างโรงไฟฟ้าแพงกว่ายุโรป 4 เท่าตัว
สส.คก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชี้ “กระทรวงพลังงาน” ส่อทุจริต ลั่นงบ 441 ล้านบาท ที่ใช้สร้างโรงไฟฟ้า-เขื่อนขนาดเล็ก-โซลาร์ลอยน้ำ แพงกว่ายุโรป 4 เท่าตัว อาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่สอง พิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยเวลา 13.20 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำโครงการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลงานดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ.2566-2580 (แผนพลังงานชาติ) แต่ปัญหาอยู่ที่แผนพลังงานชาติ ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565
“ซึ่ง 2 ปีที่เราอยู่กันโดยไม่มีแผนพลังงานชาติ กลายเป็นว่าโครงการนี้กำลังจะจัดจ้างที่ปรึกษา แต่วันนี้ยังไม่มีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพลังงานชาติของปี 2565 เลย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอภิปราย
โดยระหว่างนี้ที่ไม่มีแผนพลังงานชาติ ก็อนุมัติแผนรับซื้อพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในที่ประชุมสภาฯ สมัยที่แล้ว ตนเองได้ตั้งคำถามต่อการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวว่าเป็นไปตามแผนพลังงานชาติหรือไม่ แม้ยังไม่มีแผนพลังงาน แต่กลับอนุมัติทำสัมปทานซื้อพลังงานจากเขื่อนในลาวแล้วเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อพลังงานทดแทน 5 พันเมกกะวัตต์ และจ่ออนุมัติซื้อพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกกะวัตต์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่หรือไม่
ด้านนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า แม้กระทรวงพลังงานจะได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 1,856 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงนั้นจะไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อาจมีคนที่ปล่อยปละละเลยจนมีการทุจริตมากที่สุด แต่ 1,172 ล้านบาทนั้น ถูกจัดสรรไปให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยงบ 441 ล้านบาท ถูกนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าทั้งเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่มีปัญหา
โดยเฉพาะค่าก่อสร้างที่แพงแล้วแพงอีก มีมูลค่าค่าก่อสร้างสูงกว่าสหภาพยุโรป 4 เท่าตัว จึงฝากคำถามกลับไปยังกรม พพ.ว่า ที่ผ่านมามีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่
นอกจากนี้ตนสงสัยว่าทำไมกระทรวงพลังงงานต้องของบประมาณไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนั้น เพราะมีกลไกอื่นคือ กองทุนด้านพลังงาน ที่ยังรอการนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์และถูกวัตถุประสงค์อีกหลายกองทุน เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เหลืองบประมาณที่เป็นเงินสด 5,016 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่เปิดเผยในปี 2565 และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่เหลือเงินสด 12,005 ล้านบาท ทั้งสองกองทุนนี้ ในร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เขียนไว้ชัดเจนว่าอนุญาตให้นำเงินไปใช้ได้ในโครงการอนุรักษ์พลังงานและแก้ไขสิ่งแวดล้อมได้
ทั้งนี้ หากนำเงินจากทั้ง 2 กองทุนมารวมกันจะสามารถสร้างโรงงานไฟฟ้าสะอาดในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยไม่ต้องของบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1.ใช้เงินจากกลไกกองทุนในการสร้างเขื่อนแทนงบประมาณ
2.โอนโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมดไปอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อนำให้กระบวนการคัดเลือก การประมูลค่าไฟฟ้ามีความโปร่งใสมากขึ้น และ 3.ยกเลิกการนำต้นทุนที่ใช้สร้างเขื่อนขนาดเล็กมาคิดรวมในค่า Ft จึงขอปรับลดงบประมาณในมาตรานี้ลด 5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กระทรวงพลังงานแม้จะได้งบประมาณน้อย แต่มีขุมทรัพย์มหาศาลซ่อนอยู่ เพราะเมื่อปี 2561 หลังจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้สิทธิ์ประมูลและสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ และบงกชไปถือครอง ทำให้เชฟรอนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐ ต้องทำแผนรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ
โดยปัญหาของข้อพิพาทที่ทำให้เชฟรอนได้ทำการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการรัฐบาลไทย ในประเด็นกรณีข้อพิพาทค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่น ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ทางเชฟรอนเป็นผู้รับผิดชอบรื้อถอนและค่าใช้จ่ายเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลง ซึ่งเชฟรอนได้ส่งหนังสือยืนยันและพูดถึงการรื้อถอนแท่นว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนแท่นแค่ 49 แท่น ที่ไม่ได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลตามสัญญาตามสัมปทานเพียงเท่านั้น
น.ส.เบญจา กล่าวต่อว่า ส่วน 142 แท่นที่ส่งมอบให้รัฐไป ก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นไปตามสัญญาสัมปทานเดิมที่เคยทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 แต่หลังรัฐประหารปี 2559 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแก้กฎกระทรวงย้อนหลัง ทำให้ผู้รับสัมปทานคือเชฟรอน ต้องไปชี้แจงว่าประเด็นนี้ไปสู้กันในอนุญาโตตุลาการประเด็นกฎหมายที่ออกมาใหม่ เป็นการออกมาภายหลังแล้วจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกลับไปได้หรือไม่
โดยรมว.พลังงานในวันนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้น ไม่ดำเนินการตามนโยบายพลังงาน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ผิดพลาด บกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบไม่รัดกุมเช่นนี้ จึงต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลเพื่อไทย จะเอาผิดอย่างไรกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่