“ภูมิธรรม” เซ็น MOU สมาคมนำเข้าส่งออกสินค้า “ไทย-จีน” ขายทุเรียน-มังคุด 3 พันล้าน
“ภูมิธรรม เวชยชัย” ลงนามข้อตกลง MOU ระหว่างสมาคมเข้านำ-ส่งออก สินค้าเกษตรไทย-จีน กับสมาคมผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศจีน ขายทุเรียน-มังคุดล่วงหน้าจังหวัดจันทบุรี 20,000 ตัน กว่า 3,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรไทยขายได้ราคาดีทั้งปี
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลง MOU ระหว่างสมาคมนำเข้าและส่งออก สินค้าเกษตรไทยและจีน กับสมาคมผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศจีน เพื่อเป็นการหาตลาดผลไม้ล่วงหน้า ดึงให้ราคาดี และสร้างความเชื่อมั่นในผลไม้คุณภาพของไทยที่จะส่งออกไปตลาดโลกที่สมาคมนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน จังหวัดจันทบุรี
โดยจากนั้นนายภูมิธรรมได้ชิมทุเรียนหมอนทองแช่เข็งที่นำไปจำหน่ายที่จีน ซึ่งนายภูมิธรรมชมว่ามีรสชาติดี และเดินเยี่ยมชมกระบวนการผลิต การแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง ก่อนไปที่ตลาดทุเรียนจันทร์ซึ่งเป็นตลาดขายผลไม้ของจันทบุรีด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนรู้จักทุเรียนตั้งแต่สมัยเด็กได้ยินชื่อทุเรียนจันทบุรีมาตลอด ได้ชิมก็ยังประทับใจมาจนถึงวันนี้ พูดถึงจังหวัดจันทบุรี ตนนึกถึง 2 อย่าง 1.ผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะทุเรียน และ 2.อัญมณี พลอยที่ขึ้นชื่อ เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ตนไปเมืองจีนมาหลายครั้งชาวจีนต่างชื่นชมทุเรียนไทย จังหวัดจันทบุรีถือเป็นมหานครแห่งผลไม้และอัญมณี
โดยวันนี้มีการทำ MOU ขายทุเรียนและมังคุด ระหว่าง บริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด กับสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน ปริมาณ 20,000 ตัน มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท (ช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย.67)
อีกทั้งสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน กับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้การรับรองคุณภาพมาตรฐานเป็นการตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพทุเรียนได้ ซึ่งที่จังหวัดจันทบุรีมีล้งผลไม้เยอะเกือบ 80% ของประเทศอยู่ที่นี่ มีสมาคมฯเป็นศูนย์กลางช่วยทำการค้าขายผลไม้ ช่วยรักษาระดับราคาให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ตนคิดว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและมีศักยภาพที่สุด มีความพร้อมส่งออก และเรามีการปรับปรุงคุณภาพ มีการแช่แข็งให้ส่งให้ถึงมือผู้บริโภคชาวต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกระทรวงพาณิชย์พร้อมช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ให้เกิดความสะดวกทางการค้า เราเจรจากับด่านต่างๆอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ตนได้พบท่านทูตจีนขอให้อำนวยความสะดวกผลไม้ไทยมากขึ้น หลังจากนี้ตนจะไปดูด่านโม่ฮาน และด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งเป็นด่านที่มีความสำคัญในการส่งออกผลไม้ เพื่อช่วยเจรจาให้ผู้นำเข้าให้ทุเรียนของเราสามารถส่งออกได้
โดยปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทย ส่งออกผลไม้สด แช่แข็ง และผลไม้แห้ง คิดเป็นมูลค่า 238,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกทุเรียน ประมาณ 141,000 ล้านบาท และมังคุด 17,000 ล้านบาท ซึ่งผลไม้ทั้งสองชนิดนี้เป็นผลไม้ที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและสนับสนุนชาวจังหวัดจันทบุรีอย่างเต็มที่ เพราะเป็นจุดหลักในการนำส่งออกผลไม้สู่ต่างประเทศ
ด้าน กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสินค้าผลไม้ จัดให้มีงานจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดหลักของผลไม้ไทย เรามีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่จีนถึง 9 แห่ง โดยตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ 7 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว ชิงต่าว เซี่ยเหมิน หนานหนิง เฉิงตู และคุนหมิง นอกจีนแผ่นดินใหญ่ 2 แห่ง คือ ที่ฮ่องกง และไต้หวัน โดยจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยและจีน รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคสินค้าไทยในประเทศจีน
“เราเห็นเอกชนเป็นทัพหน้า จะสนับสนุนให้ท่านทำหน้าที่นำเข้า-ส่งออกให้ดีที่สุด ท่านนายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่า เราจะเป็นกองหลัง เป็นรัฐที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกทางการค้า ถ้ามีกฎระเบียบหรืออุปสรรคขัดขวาง รัฐจะมีหน้าที่ช่วยเหลือแก้ไข อะไรที่ทำได้เลยเราจะทำทันที ซึ่งตนได้ให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดช่วยประสานงานแก้ไขปัญหาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขอฝากชาวสวนรักษาคุณภาพผลผลิต ทุเรียนอ่อนไม่นำไปขาย ทำผลไม้คุณภาพ ขอให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ร่วมมือกันไม่แย่งชิงกันทำราคาตก” นายภูมิธรรม กล่าว
โดยภายในงานมี นายบรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายกฤษณพณ เรืองรติภาส นายกสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน ร่วมด้วย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับสถานการณ์ผลผลิตผลไม้จังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้ ปี 2567 คาดว่าทุเรียนจะมีผลผลิต 561,905 ตัน เพิ่มขึ้น 4.35% มังคุด 93,736 ตัน เพิ่มขึ้น 12.36% เงาะ 55,442 ตัน ลดลง 0.59% ลองกอง 5,308 ตัน เพิ่มขึ้น 3.41% ผลผลิตรวม 716,421 ตัน เพิ่มขึ้น 4.92% ซึ่งจังหวัดจันทบุรีมีล้ง ที่ผ่านมาตรฐาน GMP จำนวน 827 ล้ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ในการทำผลไม้คุณภาพและหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระบายผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน