ศาลฯ รับคดีถอนมติควบ TRUE – DTAC หลังลูกค้า “เอไอเอส-ทรู” ฟ้อง!

“ศาลปกครองสูงสุด” กลับคำสั่ง “ศาลปกครองชั้นต้น” รับคำฟ้องคดีลูกค้า “AIS-TRUE” จำนวน 5 ราย ฟ้องขอให้เพิกถอนมติ กสทช. ที่รับทราบควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ไว้พิจารณา โดยมองว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม


ผู้สื่อข่าวรายงาน อ้างอิงจากแหล่งข่าว สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งในคดีที่ผู้บริโภค 5 ราย ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ในคดีหมายเลขแดงที่ 301/2566 หมายเลขแดงที่ 1194/2566 ซึ่งศาลฯมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) และขอให้เพิกถอน ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไว้พิจารณา

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้บริโภคทั้ง 5 ราย ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า แม้ว่าการยื่นฟ้องคดีจะพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีแล้ว แต่การฟ้องคดีนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้บริโภคทั้ง 5 ราย ไว้พิจารณาพิพากษาได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 27(11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ประกอบมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560

ทั้งนี้มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่ม บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TRUE MOVE) โดยผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นเจ้าของในคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นสมบัติของชาติ ตามมาตรา 3 และมาตรา 60 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในฐานะเป็นผู้บริโภคอีกฐานะหนึ่ง ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี

ผลตามมาจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศและมติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่

โดยเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้ใช้บริการเครีอข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด อันอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ถูกฟ้องคดี

สำหรับการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 และมีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันส่งผลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด

โดยกลายเป็นผู้ดำเนินกิจการที่อยู่เหนือตลาด หรือเป็นผู้ดำเนินกิจการโทรคมนาคมเพียงรายเดียว ย่อมจะส่งผลให้อัตราค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และย่อมส่งผลให้ประชาชน รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่สามารถเลือกรับ หรือตัดสินใจในการรับบริการโทรคมนาคมได้ กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560ได้มีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 14 ง วันที่ 19 ม.ค.2561 โดยข้อ 1 ของประกาศดังกล่าว กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ดังนั้น วันที่ 20 มกราคม 2561 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นวันที่ประกาศฉบับพิพาทมีผลใช้บังคับ และถือว่าเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนประกาศฉบับพิพาทภายในเก้าสิบ (90) วันนับแต่วันดังกล่าว

ทั้งนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิส์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ขอให้ศาลเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้เปิดเผยผลการลงมติพิพาทแก่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไชต์ของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สำหรับรายงานการประชุมได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565

อันถือเป็นการเปิดเผยรายงานการประชุม พร้อมทั้งผลการลงมติของผู้ถูกฟ้องคดีต่อสาธารณชนแล้ว ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้ถึงความมีอยู่ของมติพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีตามความเป็นจริงอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงชอบที่จะต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบ (90) วันนับแต่วันดังกล่าว เพื่อขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้านำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพันกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 แล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งสองกรณีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การฟ้องคดีนี้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ

การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาพิพากษาได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า แต่อย่างใด นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย

จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณา และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี รวมทั้งพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าต่อไป”คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 1344/2566 คำสั่งที่ 69/2567 ลงวันที่ 19 มกราคม 2567 อ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุ

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องในคดีขอให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่มีมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC และเพิกถอน ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ไว้พิจารณารวมแล้ว 2 คดี โดยคดีแรก เป็นคดีที่ฟ้องโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และคดีที่ 2 เป็นคดีที่ฟ้องโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ส่วนที่คดีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องในครั้งนี้ ถือเป็นคดีที่ 3

Back to top button