KCG วางเป้ารายได้ปี 67 โต 10% รุกตลาดตปท. เล็งนำ EV Truck เสริมทัพธุรกิจ
KCG เปิดวิสัยทัศน์ปี 67 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% เดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ ลุ้นธุรกิจ “นิวไฮ” ต่อเนื่อง เล็งนำ EV Truck เสริมศักยภาพเพิ่มสัดส่วน 30% ของรถขนส่งเดิม พร้อมงบลงทุน 400 ล้านบาท สานต่ออาณาจักรอาหารสไตล์ตะวันตก
นายดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG เปิดเผยข้อมูลทิศทางธุรกิจผ่านงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ว่าทิศทางธุรกิจในปี 2567 นั้นตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งนี้ บริษัทฯ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซี่งค้นพบว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่จะสามารถดำเนินธุรกิจผ่านสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไปได้นั้น บริษัทได้วางแผนงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “Transition Towards Sustainable Growth” “สร้างองค์กรสู่การเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง”
โดยกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาใน 2 มิติหลักๆ คือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Strategy) โดยยึดหลัก “Heart-driven – Expertise – Agile – Responsible – Teamwork” ด้วยความเชื่อมั่นว่าพนักงานเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมาย และ 2.ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ (Business Strategy) เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างอาณาจักรอาหารตะวันตกเนยและชีสให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 7 ด้านที่บริษัทมุ่งพัฒนา อาทิ 1.มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ (Growth) โดยมีเป้าหมายการเติบโตเป็น “Double Digits” เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก, 2.การพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อให้องค์กรมีการพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน, 3.การขับเคลื่ององค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี (Innovation Data & Tech), 4.การขยายตลาดส่งออก (Export) โดยบริษัทยังให้ความสำคัญในปี 2567 และอีก 2 ปีข้างหน้า (2568-2569)
5.ยกระดับศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าที่ทันสมัยครบวงจร (Supply Chain & Inventory) ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้, 6.ยกระดับการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Production& Automation) และสุดท้าย 7.การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
ด้าน นายธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า หากพูดถึงการเติบโตของบริษัทแบบ “Double Digits” ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น บริษัทจะเน้น 2 ส่วนสำคัญ คือ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับแบรนด์และโปรดักส์ ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถูกลักษณะ รวมถึงสินค้าใหม่ที่จะผลิตออกมาต้องมีการทำวิจัยหาข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า
ทั้งนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะมีแผนการดำเนินงานผ่านการพูดคุยกับกลุ่มลูกค้าพันมิตรระดับต้นๆของบริษัททุกๆ 3 เดือน เพื่อแนวทางร่วมพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการ ส่วนที่ 2 คือ Inorganic Growth JV และ M&A โดยบริษัทมีความพยายามที่จะหาโอกาศในการเจริญเติบโตผ่านการลงทุน ยกตัวอย่างที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท อินโดกูนา (ประเทศไทย) จำกัด ที่ประกอบธุรกิจนำเข้าเนื้อสัตว์ และอาหารซีฟู้ด ซึ่ง “อินโดกูนา” ถือเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ให้บรรดาร้านอาหารต่างๆ ขณะที่ KCG เล็งเห็นประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว จึงต้องการผนวกธุรกิจนี้เข้ามาสร้างความแข็งแกร่งอีกด้านให้กับบริษัท
ส่วนการขยายตลาดต่างประเทศปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปแล้วมากกว่า 17 ประเทศ ซึ่งลักษณะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นแบบ B2C “Business-to-Customer” หรือ การขายผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค ส่วนลักษณะธุรกิจแบบ B2B “Business-to-Business” นั้นบริษัทได้เริ่มทำมาแล้วประมาณ 2 ปี ยกตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทได้เข้าเป็นซัพพลายเออร์สินค้าให้แก่ร้านอาหาร “Fast food” ชื่อดังอย่าง “แมคโดนัลด์” รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นได้มีส่วนร่วมทำธุรกิจให้แก่ร้านอาหารผ่านการคิดค้น ครีเอทเมนูใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งทั้ง 2 ส่วนที่กล่าวมามีการตั้งเป้าหมายการเติบโตในลูกค้าที่ 16%
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีเป้าหมายในการขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม และเน้นที่แถบเอเชีย อาเซียน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น โดยที่ผ่านมามีการเข้าถึงประเทศในแถบอาเซียนแล้วเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่ สิงคโปร์
นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สร้าง 5 เมกะเทรนด์ในปี 2567 ได้แก่ 1. Health Beliefs เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย 2. Naturally Functional เทรนด์อาหารที่มีการพัฒนาสารเสริมเชิงหน้าที่จากธรรมชาติหรือมีการเติมวิตามินเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ 3. Weight Wellness เทรนด์อาหารสำหรับการดูแลรูปร่าง 4.Snackification เทรนด์นวัตกรรมอาหารว่างที่ทำให้สะดวกทานง่ายทุกที่และทุกเวลา และ 5. Sustainability เทรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก
ขณะที่ บริษัทมีแนวทางที่จะทำให้องค์กรเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอาหารตะวันตก และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงปี 2567-2572 ผ่านการวางกรอบการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และบริการใหม่ตามเทรนด์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทย รวมถึงระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเจาะลึกถึงความต้องการผู้บริโภค หรือกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน พร้อมการต่อยอดสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งที่ทำจากนม (Dairy Products) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ทำจากนม (Non-dairy) และมีการร่วมมือ สถาบันการศึกษา พันธมิตรบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างเหมาะสม
โดยบริษัทมีพันธมิตรให้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป เอเชีย หรือโอเชียเนีย (Oceania) อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งเทรนอาหารตะวันตกที่มีการเติบโตในปัจจุบันนั้นคืออาหารเพื่อสุขภาพ ดังมี่ได้เกริ่นไปข้างต้น โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าบ้างแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่รับประทานอาหารคีโต (ketogenic Diet) รวมไปถึงให้ความสำคัญ Packaging ที่รักษ์โลกมากขึ้น ผ่านการใช้กระดาษแทนการใช้พลาสติกในการทำบรรจุภัณฑ์
ด้านนายดนัย คาลัสซี รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก คือ การบริหารสายงานการผลิต คุณภาพและการพัฒนาวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง อนึ่งการส่งสินค้าที่รวดเร็วยังถือเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน โดยบริษัทมีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า “KCG Logistics Park” ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 90% เป็นอาคารทั้งหมด 6 หลัง บนพื้นที่กว่า 15 ไร่ หลังโรงงานบางพลีเดิม ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าดังกล่าวมีการเริ่มใช้งานบ้างแล้วในเดือน มี.ค.2567 และจะมีการเปิดใช้งานส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2/2567 ทั้งนี้ จะทำให้การจัดส่งสินค้ามีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ มีการนำเทคโนโลยีระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) มาใช้เพื่อควบคุมระดับสต็อกจัดเก็บผลิตภัณฑ์ คาดการณ์ว่าจะทำให้การจัดเก็บเพิ่มขึ้นประมาณ 100 % แบ่งเป็น 3 ระบบ ทั้งแช่แข็ง (Frozen), แช่เย็น (Chil) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) ระบบดังกล่าวนำมาใช้เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทเนยและชีสมีความสดใหม่ และหากพูดถึงการผลิตภัณฑ์ประเภทเนยและชีสแล้ว บริษัทยังได้มีการขยายกำลังผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีสในรูปแบบห่อเดี่ยว (Individually Wrapped Processed Cheese Slices หรือ IWS) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,106 ตันต่อปี เป็น 4,212 ตันต่อปี ไปเรียบร้อยแล้วในเดือนตุลาคมปี 2566
ส่วนแผนเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ จะมีการสร้างโรงงานผลิตเนยเพิ่มในช่วงกลางปี 2567 คาดการณ์ว่าโปรเจคดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในช่วงกลาง 2568 ซึ่งจะขยายกำลังการผลิตเนยจากเดิม 18,000 ตันต่อปี เป็น 23,000 ตันต่อปี พร้อมทั้งในอนาคตอาจมีการนำแผงโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้งานในโรงงาน
รวมถึงปรับระบบการขนส่งสินค้าโดยการนำ (EV Truck) เข้ามาเสริมศักยภาพ วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของจำนวนรถขนส่งทั้งหมดของบริษัท เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งไปกว่านั้นบริษัทวางงบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้บริหารงานในหลายส่วนเพื่อเสริมศักยภาพของบริษัท
สุดท้ายนี้ ผลการดำเนินงานปี 2566 ผ่านมาบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 305.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 241.1 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 7,204.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,232.7 ล้านบาท
โดยเป็นการเติบโตของยอดขายจากทุกประเภทผลิตภัณฑ์ และทุกช่องทางการจำหน่าย ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น การออกผลติภัณฑ์ใหม่ซึ่งได้รับผลตอบรับดี รวมถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้นจาก บริษัท อินโดกูนา (ประเทศไทย) จำกัด (“อินโดกูนา” หรือ “IDG”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KCG เข้าซื้อในเดือนมีนาคม 2565