“ธรรมนัส” สั่งฟัน 3 บริษัทเอี่ยว “หมูเถื่อน” พบปลอมแปลงเอกสารนำเข้า เสียหายกว่า 4 พันล้าน
“ธรรมนัส” เอาผิดเพิ่ม 3 บริษัท หลังพบปลอมแปลงเอกสารนำเข้าหมู-วัวเถื่อน 5.9 ล้านกิโลกรัม เสียหายกว่า 4 พันล้านบาท จ่อดำเนินการอีก 9 บริษัท รอหลักฐานประกอบรวม 400 กว่าคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวการตรวจจับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย นำไปสู่การตั้งชุดเฉพาะกิจ “พญานาคราช” เพื่อสืบสวนขยายผลกลุ่มบุคคลที่ลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ และสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยจากลงพื้นที่ตรวจสอบตู้คอนเทเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 66 ทำให้พบว่าในการลักลอบซุกซ่อนชิ้นส่วนสุกรปะปนมากับสินค้าประเภทประมง จึงขยายผลจนนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากตรวจพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารการนำเข้าสัตว์น้ำ 20 คดี
ล่าสุดวันที่ 20 มี.ค. 67 ชุดเฉพาะกิจ “พญานาคราช” ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนกลาง อีก 1 ราย จำนวน 220 คดี ที่มีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ประกอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยพบว่า มีการยื่นขอนำเข้าหัวปลาแซลมอน และปลาจวด แต่สินค้าที่นำเข้ามาจริงกลับเป็นเนื้อสุกรจำนวน 1,859,270 กิโลกรัม และเนื้อวัว 4,135,306 กิโลกรัม จาก 220 ตู้ คิดน้ำหนักรวมแล้วประมาณ 5,994,576 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,407,187 ล้านบาท นอกจากนั้น ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯ ไปยื่นดำเนินคดีกับบริษัท 3 แห่ง และตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเพิ่มเป็น 2 เท่า สร้างความเสียหายประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 มีการตรวจสอบสามารถดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ที่ตำรวจสอบสวนกลางกับบริษัท 3 แห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด 1.บริษัทศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 9 คดี 2.บริษัทสมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 9 คดี และ 3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง 2 คดี โดยสิ่งที่พบความผิดปกติ ณ วันนี้ คือบริษัทศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด มีการ ใช้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์บกที่หน่วยงานผู้รับรองประเทศต้นทางออกให้มาปลอมแปลงข้อมูลบางส่วนให้เป็นใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และนำมาใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อด่านตรวจประมงชลบุรี
โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบรับรอง เช่น ปลอมแปลงรายการสินค้าหมู หรือวัวเป็นปลาจวดแช่แข็ง มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดจากหมูหรือวัวแช่แข็ง เป็นพิกัด ปลาแช่แข็ง ซึ่งก่อนแจ้งความดำเนินคดี เราได้ตรวจสอบ ยืนยัน ไปยังประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศต้นทางแล้ว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยว่า ใบรับรองที่าบริษัทดังกล่าวยื่นประกอบขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้ออกโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบของบราซิล และเป็นเอกสารปลอม
นายบัญชา ยังระบุว่า มีการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทข้างต้นใน 4 ข้อ ได้แก่ 1.ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามมาตรา 264 ฐานความผิดใช้เอกสารปลอมมาตรา 268 ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 137 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ผ่านนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามมาตรา 14 (1) และ (2) รวมคดีทั้งหมดที่ไปแจ้งความ 220 คดี พร้อมกันนี้ กรมประมงขอให้ผู้เกี่ยวข้อง นำข้อมูลพยานหลักฐานข้อเท็จจริงมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวนเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และขอบอกว่าตอนนี้กำลังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพฤติกรรม ลักษณะดังกล่าวอีก ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ระบุว่า จากการตรวจสอบ พบว่าน่าจะมีมูลเหตุจูงใจอยู่ 2 ประเด็นแรก เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการนำเข้า เป็นซากสัตว์หรือหมู หรือเนื้อ จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้านำเข้าเป็นปลา ก็จะไม่ต้องเสียภาษี ประเด็นที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการกักกันโรค เพราะถ้าแจ้งว่าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์ จึงน่าสงสัยว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมที่ใช้ในการนำเข้าหมูหรือเนื้อเถื่อนเข้ามาในประเทศไทยผ่านบริเวณท่าเรือ เบื้องต้นได้มีการออกหมายเรียกบริษัทไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าขอขยายเวลาเข้ามาพบเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องนำมาชี้แจง ยืนยันว่าเราจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป
พล.ต.ต.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า นอกจากการดำเนินคดีอาญา ที่มีการแถลงไปแล้วอีกส่วนหนึ่งคือ ความผิดมูลฐานข้อมูลทางการเงินและการกระทำความผิดมูลฐาน ปปง. จะไปดำเนินการทางแพ่งต่อทุกคดี เพราะฉะนั้น นอกจากติดคุกแล้ว ก็ยังหมดตัวด้วย
พ.อ.วิรักษ์ สัตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กล่าวว่า คดียังไม่จบแค่นี้ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่จะดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีก 9 บริษัท ซึ่งยังรอหลักฐานประกอบเล็กน้อย รวม 400 กว่าคดี
พ.อ.วิรักษ์ กล่าวว่า แรกเริ่ม ที่เราสงสัยเพราะ รมว.เกษตรฯ เข้าไปตรวจสอบที่แหลมฉบัง ซึ่งหนึ่งในตู้คอนเทเนอร์นั้นพบว่า ข้างหน้าเป็นสำแดงผิดประเภท พอตรวจไปท้ายคอนเทเนอร์กลายเป็นหมู ทำให้เราฉุกคิด และ รมว.กษตรฯ ได้สั่งให้กรมประมงจัดตั้งวอร์รูมขึ้นมาตรวจสอบ จึงนำเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์มาไล่เลียงตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นนี่ถือเป็นการค้นพบความผิดปกติเสินทางใหม่
ร.อ.ธรรมนัส ยังระบุว่า หลังจากนี้จะมีการดำเนินการกับขบวนการนำเข้า “เนื้อสัตว์เถื่อน” เพิ่มอีกประมาณ 5 บริษัท ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ สืบเนื่องจากที่ดีเอสไอดำเนินคดีแก่ผู้นำเข้า 161 ตู้ แต่หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขยายผล สามารถตรวจสอบและพบหลักฐานอันเป็นที่มาที่ไปว่า เหตุใดถึงดำเนินคดีเพิ่มอีก 220 คดี และ ณ วันนี้ ตรวจสอบเบื้องต้นก็จะเพิ่มอีกเป็น 400 คดี นั่นหมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท หรืออาจจะถึง 10,000 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราจะขยายผลต่อไป ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงอยากให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภครับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้หากเกี่ยวข้องกับคดีเก่าก็จะประสานไปยังดีเอสไอต่อไป ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ไว้ใจการทำงานของดีเอสไอ แต่เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรเกษตรกร