“กทม.” สางปมใบส่งตัวผู้ป่วย “บัตรทอง” แนะปชช. สิทธิได้ตามเดิมจนกว่าจะหมดอายุ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หารือ “สปสช.” แก้ปัญหาใบส่งต่อให้ผู้ป่วยบัตรทองพื้นที่ กทม. แนะประชาชนใช้สิทธิใบส่งตัวเดิมได้ตามปกติจนกว่าจะหมดอายุ พร้อมแนวทางปรับสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ ( 25 มี.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงประเด็นการจัดการระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า หลังปรับการจ่ายเงินทำให้มีผลต่อการรับบริการ กรณีที่การรักษาของผู้ป่วยเกินศักยภาพคลินิก คลินิกจะออกใบส่งต่อให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามสิทธิ และหากผู้ป่วยมีใบนัดรักษาต่อเนื่องสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่ออนุโลมให้ใช้เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ประชาชน คลินิก และหน่วยบริการยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน
ทำให้ต้องหารือร่วมกันระหว่าง (กทม.) กับ (สปสช.) ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการระบบบริการสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 ที่ผ่านมา อาจจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเรื่องใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลต่างๆ และมีประเด็นสงสัย อาทิ โรงพยาบาลอาจต้องการให้ทำใบส่งตัวใหม่ หรือประชาชนอาจยังไม่เข้าใจจึงมาขอทำใบส่งตัวใหม่จากทาง ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของกทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สปสช. ให้แนวทางดำเนินการว่าใบส่งตัวที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว ถือว่าให้ใช้ได้ตามปกติจนกระทั่งหมดอายุ ซึ่ง กทม. ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวทาง ส่วนคลินิกหรือโรงพยาบาลเอง ก็คงต้องเป็นแนวทางปฏิบัติที่ สปสช. จะไปเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยในอนาคต ขณะที่ เรื่องระบบส่งตัวจะมีจากคลินิกส่งตัวให้ ศบส. หรือ ศบส. ส่งตัวให้โรงพยาบาลก็จะเป็นระบบที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ สปสช. กำหนด
อีกทั้ง ตามแนวทางดังกล่าวหมายความว่าจากนี้เป็นต้นไป ต้องเริ่มจากหน่วยปฐมภูมิ คือ คลินิก หรือ ศบส. ที่ตนเองลงทะเบียนอยู่ จากนั้นการส่งต่อก็จะเป็นไปตามขั้นตอนหากคลินิกเห็นว่ารับมือไม่ไหวก็ส่งไปยัง ศบส. หรือหน่วยระดับสอง หากไม่ไหวก็ส่งต่อไปหน่วยระดับสาม คือโรงพยาบาล เป็นขั้นตอนที่มีการคัดกรองเพื่อลดภาระที่จะไปสู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า กรณีที่หน่วยงานมีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิมที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว อาจจะเกิดความสับสนเข้าใจไม่ตรงกัน และต้องมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ซึ่งในส่วนของสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมดผู้ว่าฯ กทม. ได้มีการสั่งการว่าให้ดำเนินการจนกว่าใบส่งตัวจะหมดอายุ เชื่อว่าตรงนี้จะแก้ปัญหาไปได้เยอะ
โดยในส่วน สปสช. ก็รับปากผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการที่รับส่งต่อ และจะรับนโยบายผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงนโยบายในอนาคตที่ใบส่งตัวควรใช้เป็น “ระบบอิเล็กทรอนิกส์” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ทั้งนี้ สำหรับการจ่ายเงินมีความชัดเจนว่าเงินส่วนแรกที่จะจ่าย มีการเปลี่ยนเป็นลักษณะเหมาจ่ายรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่าย เพราะฉะนั้นเครือข่ายจะมีทั้ง ศบส. และคลินิก และมีการส่งต่อไปก็จะตามจ่ายในส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด กำหนดครั้งละไม่เกิน 800 บาท
สุดท้ายนี้ กรณีถ้าประชาชนไม่ได้มีใบส่งตัวไปในส่วนของโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ จะมีกองทุนอีกกองหนึ่งตามไปจ่าย ซึ่งได้มีการซักซ้อมกับหน่วยบริการให้ความมั่นใจว่าในแง่กลไกการเงินมีการดูในทุกระดับ แต่ต้องเรียนว่าไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปรับบริการยังโรงพยาบาลใหญ่โดยที่ไม่มีระบบอะไร เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ