“สภาผู้บริโภค” ชี้ TRUE ฟ้องอาญา “พิรงรอง” ผิดปกติ! เหตุคดีเข้าข่าย “คำสั่งทางปกครอง”
“สภาผู้บริโภค” ตั้งข้อสังเกต ทรู ดิจิทัล ภายใต้กลุ่ม TRUE ฟ้อง “พิรงรอง รามสูต” ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะเจาะจงเลือกดำเนินคดีกรรมการเพียงบางคน แทนการฟ้อง สำนักงาน กสทช.ทั้งคณะ ที่เป็นคนออกคำสั่ง
นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กภายใต้ชื่อว่า “Supinya Klangnarong” โดยได้ตั้งข้อสังเกตกรณีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จากการที่ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ในฐานะคณะอนุกรรมการพิจารณาด้านกิจการโทรทัศน์ และอนุกรรมการฯ ลงมติให้สำนักงาน กสทช. ออกคำสั่งทางปกครองแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ในเชิงเสนอแนะให้ตรวจสอบ กรณีแพลตฟอร์มออนไลน์ของทรูบนอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชั่น True ID มีโฆษณา ซึ่งขัดกติกา กสทช. ที่อนุญาตให้ออกอากาศบนโครงข่ายทีวีดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมระบบ OTT (Over-the-top) ที่เป็นคอนเทนต์ประเภทสตรีมมิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือ การนำช่องฟรีทีวีไปออกตามกติกา Must carry คือต้องออกแบบทั้งหมดไม่ดัดแปลงหรือที่เรียกว่า (pass through) ดังนั้นจะมีการแทรกโฆษณาไม่ได้
สำหรับที่มาของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว เนื่องจาก กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าบริการทรูไอดี (TrueID) ซึ่งเป็น Streaming Platform ของบริษัท ทรู ดิจิทัล ภายใต้กลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ว่าได้สมัครใช้แพคเกจทรูไอดี พลัส (TrueID+) ตามคำโฆษณาว่าสามารถรับชมคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอออนดีมานด์มากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์และซีรี่ย์ดัง โดยไม่มีโฆษณาคั่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้บริการจริงซีรี่ย์หลายเรื่อง รวมถึงการดูฟรีทีวีดิจิทัล จะมีโฆษณาคั่นเป็นระยะๆ เหมือนถูกยัดเยียดโฆษณา เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะทั้งๆ ที่จ่ายเงินเพิ่มค่าสมาชิก แต่กลับถูกบังคับดูโฆษณา ซึ่งเมื่อผู้บริโภคสอบถามกลับไปทางผู้ให้บริการ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถนำโฆษณาออกได้
ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขการให้ใบอนุญาตของ กสทช. การออกอากาศบนโครงข่ายทีวีดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ปัจจุบันมี 4 ระบบคือ 1. ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน 2. เคเบิลทีวี 3. ทีวีดาวเทียม และ 4. การรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (IPTV) แต่ยังไม่รวมถึงแพลตฟอร์มที่เป็น OTT (Over-the-top) ซึ่งเป็นการรับชมสตรีมมิ่งแบบออนดีมานด์
ดังนั้น การนำช่องรายการไปออกนอกโครงข่ายที่ไม่มีใบอนุญาตจึงทำไม่ได้ ที่สำคัญการนำช่องฟรีทีวีไปออกตามกติกา Must carry คือต้องออกแบบทั้งหมดไม่ดัดแปลงหรือที่เรียกว่า (pass through) จะมาแทรกโฆษณาไม่ได้
“สิ่งที่ อ.ขวัญ (ศ.กิตติคุณ พิรงรอง) และอนุกรรมการฯ ลงมติให้สำนักงานออกคำสั่งทางปกครองเวียนไปยังทุกช่องรายการในเชิงเสนอแนะให้ตรวจสอบ จึงเป็นไปตามการทำหน้าที่ในกฎหมาย” นางสาวสุภิญญา กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่ทรู ดิจิทัล ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เลือกฟ้องกรณีนี้เป็นคดีอาญา เรียกได้ว่าไม่เป็นไปตามกระบวนการหลักนิติธรรม (Rule of Law) เนื่องจากที่ผ่านมาข้อพิพาทในลักษณะนี้ จะมีการฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองก่อน และแม้ในอดีตเคยมีเอกชนมาฟ้องคดีอาญา กสทช.บางคนแบบนี้เหมือนกัน (เช่นคดีคู่ขนานดิจิทัลทีวี) แต่สุดท้ายก็ถอนฟ้องไป เพราะเรื่องราวข้อพิพาทคลี่คลายในชั้นศาลปกครองได้แล้ว
โดยกระบวนการปกติทั่วไป ก็คือ ถ้าเอกชนรายใดได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. ก็จะดำเนินการในแนวทาง ดังนี้ 1. ยื่นอุทธรณ์ต่อ สำนักงาน กสทช. / บอร์ด กสทช. 2. ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง หรือ 3. ควรมาเจรจากับ กสทช.ให้เข้าใจตรงกัน บนฐานของความเป็นธรรมในการแข่งขัน และ คุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ
“การข้ามไปฟ้องที่ศาลอาญาจึงไม่ปกติเท่าไร อาจเข้าข่ายทำให้กระทบการทำงานของ กสทช.ที่มีคดีความยากลำบากมากขึ้น ในกรณี ถ้าจะฟ้องก็ควรไปฟ้องที่ศาลปกครองก่อน ตามกระบวนการ Rule of Law ปกติ หากยังมีโอกาสทบทวน True ควรพิจารณาถอนฟ้องดีกว่านะคะ แต่ถ้าไม่ก็คงต้องแปรวิกฤตเป็นโอกาส ใช้คดีนี้รณรงค์ให้สังคมตื่นตัวเรื่องการทำหน้าที่ของ กสทช.และธรรมาภิบาลของเอกชนไปพร้อมกัน” นางสาวอภิญญา กล่าว