สคทช. จัดสรรพื้นที่ทำกิน “ชลบุรี” แล้วกว่า 1 พันไร่ ใช้สร้าง “อาชีพ” แก้ปัญหายากจน
สคทช.ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดสรรที่ดินทำกินใน 2 อำเภอของจังหวัดชลบรีกว่า 1 พันไร่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล
ดร.รวีรรรณ ภูริเดช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน อ.หนองใหญ่ และอ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการจัดสรรที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล ทั้งในด้านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชน รวมทั้งได้เยี่ยมและรับฟังปัญหาข้อคิดเห็นจากเกษตรกรในพื้นที่
โดยพื้นที่ที่จัดสรรให้กับชาวบ้านทั้ง 2 อำเภอของจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและนำมาจัดให้เกษตรกรตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,089 ไร่ โดยได้จัดคนเข้าทำประโยชน์แล้วรวมจำนวน 89 ราย แบ่งเป็น เขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ ตำบลเขาชก อำเภอหนองใหญ่ แปลง No. 378 เนื้อที่ จำนวน 554-0-96 ไร่ จัดคนเข้าทำประโยชน์ จำนวน 47 ราย โดยมีอาชีพหลัก ได้แก่ การปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าเนเปียร์,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) อาชีพรอง ได้แก่ การเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และมีรายได้เสริมจากการ เพาะเห็ด แปรรูปเห็ด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และดอกไม้จันทน์ รวมทั้ง ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอหนองใหญ่ (คทช.) จำกัด
อีกหนึ่งพื้นที่คือ เขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง แปลง No. 468 เนื้อที่ 535-2-71 ไร่ จัดคนเข้าทำประโยชน์ จำนวน 42 ราย โดยมีอาชีพหลัก ได้แก่ ปลูกปาล์มน้ำมัน อาชีพรอง ได้แก่ การเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และมีรายได้เสริมจากการ เพาะเห็ด แปรรูปเห็ด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และแปรรูปหญ้านาง ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด ในพื้นที่ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง
โดยทั้ง 2 พื้นที่ สคทช. ได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ 6 ด้าน ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดกำหนด ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา การครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การบุกรุกที่สงวนหวงห้ามของรัฐ การไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่อยู่อาศัยทำกินอย่างถูกกฎหมาย โดยมิให้กรรมสิทธิและตกทอดสู่ทายาทได้ สามารถทำการเกษตรเพื่อจำหน่ายให้สหกรณ์ในพื้นที่ ทำให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้ง ไม่บุกรุกทำลายป่า ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน
“สคทช. มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง โดยจะต่อยอดการพัฒนาขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการที่ดิน และขับเคลื่อนแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำสมุดประจำตัวผู้ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐในการประกอบอาชีพได้ พร้อมทั้ง ขยายโอกาสในด้านการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด พัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากชุมชน คทช. ด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์จากชุมชน คทช. เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ (คทช.) และยกกระดับเครื่องหมายแสดงสินค้าและคุณภาพสินค้าเพื่อให้ไปสู่ระดับสากลต่อไป” ดร.รวีวรรณ กล่าว