KBANK มองกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 36-36.80 บ. จับตา เงินเฟ้อไทย-เศรษฐกิจตปท.
KBANK มองกรอบบาทสัปดาห์หน้า (1- 5 เม.ย. 67) เคลื่อนไหลในกรอบ 36.00-36.80 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนมี.ค. พร้อมสัญญาณฟันด์โฟลว์ต่างชาติ ขณะที่ตลาดยังรอการเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของ ยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค.ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงเศรษฐกิจต่างประเทศ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (1-5 เม.ย.67) ไว้ที่ระดับ 36.00-36.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และทิศทางของค่าเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค., ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ.
รวมถึงข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค.ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนที่ 36.54 บาท/ดอลลาร์ ก่อนฟื้นตัวกลับมาปลายสัปดาห์ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก แต่เริ่มทยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ หลังข้อมูลการส่งออกไทยออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด (การส่งออกเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดยเงินเยนที่ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี และเงินหยวนของจีนท่ามกลางการคาดการณ์ว่า อาจเห็นสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินจากทางการจีนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อาทิ จีดีพีไตรมาส 4/2566 ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งสะท้อนว่า จังหวะเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดีเงินบาทล้างช่วงอ่อนค่าและฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการทะยานขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
โดยในวันศุกร์ที่ 29 มี.ค.67 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับ 36.37 บาท/ดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 มี.ค.67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 มี.ค.67 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 113.4 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 14,482.2 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 15,194.2 ล้านบาท หักตราสารหนี้ที่หมดอายุ 712 ล้านบาท)