“ทรีนีตี้” คัด 14 หุ้นเด่น เม.ย. หลังมอง SET ไตรมาส 2 ผันผวนสูง
“ทรีนีตี้” มองตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย. ยังผันผวนสูง ตามปัจจัยดอกเบี้ยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมคัด 14 หุ้นเด่นใน 3 กลุ่มใหญ่เป็นทางเลือกในการเข้าลงทุน
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 โดยประเมินว่า SET Index ในไตรมาสนี้จะมีความผันผวนที่เพิ่มขึ้น ตามปัจจัยทางด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งในแง่ของการลดดอกเบี้ยครั้งแรก และความคาดหวังของตลาด ที่สามารถผันแปรได้ตลอดทั้งไตรมาส
โดยในส่วนมุมมองของทาง “ทรีนีตี้” นั้น คาดว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงแน่นอนในปีนี้ ได้ราว 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 2.0% จึงได้มีการ Update สมมติฐานใหม่นี้เข้าไปใน Valuation Model เป็นผลทำให้ระดับ PE ที่เหมาะสมของ SET ในแต่ละกรณีขยายตัวได้ราว 6% มาอยู่ที่ 14.20 เท่า, 13.20 เท่า และ 12.30 เท่า ในกรณีดีสุด, กรณีฐาน และกรณีแย่สุดตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ทำให้ระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมของเราถูกปรับขึ้น เนื่องจากในรอบนี้ได้ทำการปรับลดคาดการณ์ EPS ประจำปี 2568 ลงจากเดิมที่ 113 บาท เหลือเป็น 107 บาท เพื่อให้เข้าใกล้กับคาดการณ์ของ Consensus ณ ปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้สุทธิแล้ว จะได้ว่าระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในแต่ละกรณีจะอยู่ที่ 1,520 จุด, 1,415 จุด และ 1,315 จุด ในกรณีดีสุด, กรณีฐาน และกรณีแย่สุดตามลำดับ ซึ่งเป็นกรอบที่ใกล้เคียงกับที่เราให้ไว้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
“การลดดอกเบี้ยของ ธปท.ที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 นี้ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดทิศทางดัชนี SET รวมถึงการเคลื่อนไหวของ Sector ต่างๆ ได้ แต่การลดดอกเบี้ยที่ดีต่อภาพตลาดหุ้นไทย ควรจะต้องเป็นการลดดอกเบี้ยที่ไม่ได้สร้าง Surprise ให้กับตลาดมากนัก เพราะการลดแบบ Surprise อาจเป็นการชี้นำถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ระดับที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น
อีกทั้งยังเป็นการกดดัน Fund flow จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่จะกว้างขึ้นอีกครั้ง ไม่นับรวมกับการตีความโดยตลาดว่าการลดดอกเบี้ยนี้เกิดจากแรงกดดันจากทางภาคการเมือง ซึ่งในอดีตมักเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยชื่นชอบมากนัก” นายณัฐชาต กล่าว
โดยสถิติในอดีตการปรับลดดอกเบี้ยของไทย 3 ครั้ง เมื่อ ปี 2007, 2011 และปี 2019 มีผลกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้ คือการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกของ Cycle นั้น นำมาสู่การปรับตัวขึ้นของ SET Index หลังจากนั้นจริง โดยเฉพาะหากไม่รวมปี 2562 ซึ่งมีผลกระทบของเหตุการณ์ Covid-19 เกิดขึ้นหลังจากนั้น
ทั้งนี้ หากดูเป็นราย Sector จะพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มักปรับตัวโดดเด่นในช่วงก่อนหน้าการลดดอกเบี้ยครั้งแรกจะได้แก่ HELTH, COMM, ICT และ FOOD ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่ม Domestic play แทบทั้งสิ้น
ขณะที่กลุ่มที่มักจะปรับตัวได้ดีภายหลังจากการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นแล้วจะได้แก่ COMM, HELTH, ETRON, ICT, TRANS ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี Sector ที่คาบเกี่ยวกันอยู่แล้วสามารถปรับตัว Outperform ได้ทั้ง 2 ช่วงก็คือ COMM, HELTH และ ICT แนะนำให้นักลงทุนพยายามหาจังหวะสร้าง Exposure ไปยัง 3 Sector นี้เพื่อรองรับการเตรียมเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลงในช่วงถัดไป
นายณัฐชาต กล่าวว่า ด้วยมุมมองภาพรวมของ SET Index ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีโอกาสที่จะแกว่งตัว Sideways ทำให้กลยุทธ์ Stock selection ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ โดยคัดเลือกธีมการลงทุนที่น่าสนใจมาทั้งสิ้น 5 ธีม ดังต่อไปนี้
1.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว เลือก AOT ที่ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่าไทย-จีน และเลือก AWC ที่ยังคงเป็นผู้เล่นที่ Laggard ในกลุ่มโรงแรม และเป็นตัวที่เริ่มเห็นการปรับประมาณการขึ้นในตลาด
2.หุ้นที่อิงกับอุปสงค์ภาคบริการในประเทศ เนื่องจากอุปสงค์ในส่วนนี้ยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เลือก BH เป็นตัวแทนของกลุ่มโรงพยาบาล และเลือก BJC ที่ยังคงเป็นผู้เล่นที่แลกการ์ดในกลุ่ม Consumer staple
3.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงถัดไป หลัง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับใหม่ถูกบังคับใช้เป็นผลสำเร็จในช่วงต้นไตรมาส 2 นี้ เลือก STEC เป็นตัวแทนของกลุ่มรับเหมาฯ และ GLOBAL เป็นตัวแทนของกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
4.หุ้นกลุ่มส่งออกที่พบว่ามีสินค้าบางสินค้าที่ขยายตัวได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ถุงมือยางและเครื่องปรุงรสอาหาร STGT และ XO
5.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เลือก IVL และ SCGP เป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและบรรจุภัณฑ์ ที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนในระดับสูง
สำหรับการลงทุนในเดือนเมษายน 2567 คาดตลาดหุ้นจะจะเคลื่อนไหวออกด้านข้างต่อไป ท่ามกลางวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบางจากเทศกาลหยุดยาว แต่จะมีปัจจัยชี้ชะตาที่สำคัญคือการประชุม กนง. ที่รออยู่ในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งถ้าหากมีการลดดอกเบี้ย ประเมินจะเป็นปัจจัยลบต่อ Fund flow ค่าเงินบาท
รวมถึงดัชนี SET ได้ ผ่านการปรับตัวกว้างขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ประเมินกรอบการแกว่งตัวของดัชนีเดือนนี้ที่ระดับ 1,350-1,410 จุด
สำหรับกลยุทธ์ลงทุนเดือนเมษายน แนะนำถือครองหุ้นในส่วนเดิมได้ต่อไป หลังจากที่ได้มีการเพิ่มน้ำหนักบางส่วนไปที่ระดับดัชนี SET ที่ 1,370 จุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา มองกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ตามความคาดหวังการเบิกจ่ายภาครัฐ อาทิ CK, STEC, GLOBAL, DOHOME
2.กลุ่ม Consumer staple ตามพัฒนาการของมาตรการ Digital Wallet อาทิ CPALL, CPAXT, BJC
3.กลุ่มเครื่องดื่ม ตามสภาวะอากาศที่เข้าสู่ช่วงร้อนจัด ได้แก่ ICHI, SAPPE และ 4.กลุ่มส่งออกที่เห็นการขยายตัวดี ได้แก่ AAI, ITC, STGT, TU, XO