จับตา APO เทรดวันแรกคึก! โบรกชี้กำไรปีนี้โต 3 เท่าตัว เคาะเป้าสูง 1.64 บาท
APO ลงสนามเทรดวันแรก! มาร์เก็ตแคป 337 ล้านบาท ระดุมทุนปรับปรุงเครื่องจักร คาดเดือนเครื่องภายในปี 68 รับดีมานด์น้ำมันปาล์มดิบ ด้านโบรกชี้กำไรปีนี้โต 3 เท่าตัว แตะ 56 ล้านบาท ให้ราคาเป้าสูงสุด 1.64 บาท พร้อมชูจุดเด่นธุรกิจเติบโตสูง-พื้นฐานแกร่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 เม.ย. 67) บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) เป็นวันแรก มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลังเสนอขาย 170 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ขณะที่ราคาเสนอขาย IPO ในราคาหุ้นละ 0.99 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 99 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO จำนวน 336.60 ล้านบาท โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับธุรกิจของ APO เป็นผู้ประกอบธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีกำลังการผลิตที่ 60 ตันทะลายปาล์มสดต่อชั่วโมง โดยบริษัทริเริ่มโครงการ ตัดสุก มีสุข ปาล์มดีมีคุณภาพ หรือเรียกว่า Asian Plus+ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรคู่ค้าทะลายปาล์มสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการตัดทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพ เพื่ออัตราในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสีย และได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในปี 2547 ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ รายได้ในปี 2566 แบ่งตามประเภทธุรกิจ คือ 1) ธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลักจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และผลพลอยได้ 99.46% 2) รายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า 0.54%
นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APO เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจจากผลิตภัณฑ์การเกษตรแบบบูรณาการและยั่งยืน โดยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ภายใต้การจัดหาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนทุกขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมไปถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชุมชนในท้องถิ่น สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทจะนำไปลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่ภายหลังการระดมทุนเสนอขาย IPO คือ กลุ่มครอบครัวนายนิพนธ์ อุดมผลกุล ถือหุ้นในสัดส่วน 58.93%, นางสาวณัฐปภัสร์ ศุภพิพัฒน์ ถือหุ้นในสัดส่วน 3.36%, นายปราโมช อมรพิศิษฎ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 3.31% และนายพัฒน์ สุวรรณโชติศิริ ถือหุ้นในสัดส่วน 3.31%
ด้านนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน (FA) กล่าวว่าตนมีความเชื่อว่า APO จะเป็นหุ้นไอพีโอที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทฯมีโอกาสขยายธุรกิจอีกมากมายภายหลังการเข้าระดมทุน จากจุดเด่นในการจัดหาผลปาล์มสดที่มีคุณภาพ ผ่านโครงการ Asian Plus+ ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจในการตัดทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพมาจำหน่ายกับบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีอัตราในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (OER) สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของของจังหวัดกระบี่ และค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ APO ยังมีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องอยู่ในระดับดี มีกำไรสะสมประมาณ 117 ล้านบาท และมีค่า D/E ต่ำเพียง 0.4 เท่า ซึ่งเงินระดมทุนที่ได้รับในครั้งนี้ ไม่ต้องนำไปชำระหนี้ใดๆ จึงสามารถลงทุนเพื่อการเติบโตของกิจการได้อย่างเต็มที่ และบริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักเงินสำรองตามกฎหมาย รวมถึงเงินสำรองอื่นตามที่บริษัทกำหนด
ขณะที่ดร.วรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ KFS ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน กล่าวว่า สำหรับหุ้น APO จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เนื่องจากราคาที่เสนอขายไอพีโอมีความเหมาะสม เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการดำเนินงานของบริษัท ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และสภาพคล่องทางการเงินที่ดีเยี่ยม
ทั้งนี้การกำหนดราคา IPO ที่หุ้นละ 0.99 บาท พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value : P/BV) มีค่าเท่ากับ 1.00 เท่า ขณะที่หากพิจารณาเฉพาะคู่แข่งทางตรงกับบริษัทจะมีเพียง UVAN VPO และ UPOIC ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกับบริษัท ซึ่งมี P/BV เฉลี่ยอยู่ที่ 1.55 เท่า
โดยบริษัทฯมีความสามารถในการบริหารฐานะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานที่ดี มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน เนื่องจากภายหลังการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯจะนำเม็ดเงินที่ได้มาลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิต เปลี่ยนจากหม้อนึ่งแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพื่อการลดขั้นตอน ระยะเวลา แรงงาน และลดต้นทุนในการผลิต คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จและพร้อมดำเนินงานได้ภายในปี 2568 เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ 4 แห่ง วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตและให้กรอบราคาเป้าหมายระหว่าง 1.10-1.64 บาท ดังนี้
บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินกำไรสุทธิปี 66 ลดลง 53% เป็น 13 ล้านบาท เหตุกระทบของสภาพอากาศเอลนีโญ ก่อนกลับมาเติบโตดีในปี 67 ประมาณ 321% เป็น 56 ล้านบาท รับปัจจัยหนุนจาก 1.รายได้จากธุรกิจหลักกลับมาเติบโตดีตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก 2. รายได้จากธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 400 KW เป็น 1 เมกะวัตต์ 3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A to sales) มีแนวโน้มลดลงจากระดับ 3.9% ในปี 65 เป็น 2.9-3.0% ในปี 67-68 และ 4. ภาษีจ่ายที่ลดลงจากการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน
ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์กำหนดราคาเหมาะสมเท่ากับ 1.64 บาทต่อหุ้น ประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ APO อิงค่า PER ปี 67 ที่ 10 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มน้ำมันปาล์มในตลาด
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ระบุว่าในบทวิเคราะห์ จากเงินระดมทุนบริษัทมีแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จะช่วยเพิ่มความสามารถการทำกำไร คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 66-69 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 21.5% ต่อปี อีกทั้งคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิของ APO จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 32.6% ต่อปี ระหว่างปี 66-69 จากการเร่งตัวของปริมาณจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ
ทั้งนี้ บริษัทประเมินมูลค่าเหมาะสมของ APO ที่ 1.50 บาท ด้วยวิธี Earnings Yield อิงประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 67 อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังคือ 8% ระดับราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ PE ปี 67 ที่ 12.50 เท่า
บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าสำหรับกรณีของหุ้น APO มีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาลงทุนพัฒนาระบบการนึ่งแบบ Automation Phase 1 และ 2 จำนวน 68 ล้านบาท ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ลดการสูญเสีย และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง 67 และจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรก 68 ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการต่อไป
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กำไรสุทธิปี 66 อยู่ที่13.93 ล้านบาท ลดลง 50.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มดิบกับราคาทะลายปาล์มสดในบางช่วงเวลา ก่อนจะกลับมาเติบโตต่อเนื่องเป็น 41.48 ล้านบาท และ 60.36 ล้านบาท ในปี 66-68 หรือเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ปี 66-68 ที่ 108.2%
ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 67 อิงค่า PE ที่ 11.50 เท่า อยู่ที่ 1.40 บาท โดยเลือกใช้วิธี P/E ในการประเมินมูลค่าเหมาะสม เปรียบเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกับ APO ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ที่อยู่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ CPI LST UPOIC และ UVAN ซึ่งมีค่าเฉลี่ย PER ของ Peer ย้อนหลังในอดีต 3 ปีที่ 8.80 เท่า
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีทิศทางขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐวางแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยบริษัทคาดการณ์ว่าปี 67 APO จะมีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% จาก 16 ล้านบาท ในปี 66 เนื่องจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น รวมถึงรายได้ขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การจัดหาผลปาล์มที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น 14%
โดยการจัดหาผลปาล์มผ่านโครงการ Asian Plus+ ที่ให้ราคาผลปาล์มสูงกว่าตลาดสำหรับผลปาล์มที่มีคุณภาพสูงและให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ส่งผลให้ปริมาณการขายเพิ่ม 16% ขณะที่ราคาขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลให้ยอดขายเพิ่ม 25% ด้านโรงไฟฟ้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 400 KW เป็น 1เมกะวัตต์ ตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ทำให้คาดการณ์ว่ารายได้ค่าไฟจะเพิ่มจาก 6 ล้านบาท ในปี 66 เป็น 22 ล้านบาท ในปี 67
ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ APO ปี 67 ที่ 1.10 บาท ด้วย P/E เป้าหมาย 10 เท่า (10% สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มน้ำมันปาล์มที่ 9 เท่า) ภายใต้แนวโน้มกำไรสุทธิฟื้นตัวโต 112% และ EPS หลังเพิ่มทุนเติบโต 81% ในปี 67 เพราะคาดการณ์ว่าปริมาณการขายและราคาขายน้ำมันปาล์มขยายตัว รวมทั้งโรงไฟฟ้าจากก๊าซมีการขยายกำลังการผลิต ซึ่งหากปริมาณการขายและราคาขายน้ำมันปาล์มปี 67 สูงกว่าสมมติฐาน จะทำให้ประมาณการและราคาเป้าหมายสูงกว่าคาดการณ์เดิม