APO เร่งเปลี่ยนหม้อนึ่งใหม่ รับฐานลูกค้าเพิ่ม ดันรายได้ปีนี้โต 10%
APO ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 10% เดินหน้าปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ เร่งเปลี่ยนเครื่องจักรหม้อนึ่งใหม่จากแนวตั้งเป็นแนวนอน เน้นระบบ Automation รวมถึงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรม
นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดีต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดน้ำมันปาล์มดิบมีการขยายตัว 8-9% ต่อปี ขณะที่ตลาดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขยายตัว 10-11% ต่อปี ส่วนธุรกิจไบโอดีเซลที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มดิบเติบโตราว 6-7% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการขนส่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น
โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2567 เติบโต 10% ส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบที่เข้ามา โดยเฉพาะ CPO น้ำมันปาล์มดิบ และเมล็ดในปาล์ม รวมถึงมีแผนขยายฐานลูกค้ามากขึ้นทั้งในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ กลุ่มจัดหาและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ (Trader) และฐานลูกค้าเดิมที่จะทำสัญญาซื้อขายระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 230,000 ตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 200,000 ตัน โดยยังคงรอสถานการณ์ภาวะเอลนีโญ คาดการณ์เดือนเมษายนผลผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งเริ่มเห็นชาวเกษตรกรเปลี่ยนหันมาปลูกปาล์มแทนสวนยางพารา โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตปาล์มเพิ่มมากขึ้น
ส่วนในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เฉลี่ย 53.86% ปริมาณทะลายปาล์มสดที่เข้าสู่กระบวนการผลิต 232,655 ตัน โดยบริษัทมีกำลังการผลิตสูงสุด (Maximum Capacity) อยู่ที่ 432,000 ตัน
นายสิทธิภาส กล่าวอีกว่า ด้านธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัทได้เพิ่มเครื่องจักรในช่วงไตรมาส 3/2566 เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าต่อหน่วยได้มากขึ้น โดยจะเน้นไปที่ระบบทำงานอัตโนมัติ (Automation) เปลี่ยนเครื่องจักรหม้อนึ่งจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพื่อให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพดี และลดต้นทุนในระบบผลิต หลังจากได้เงินระดมทุนจากไอพีโอ คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จพร้อมดำเนินงานและรับรู้รายได้ภายในปี 2568
โดยปีนี้จะสามารถรับรู้รายได้จากเครื่องปั่นไฟ ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วมีการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปี 2567 ที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ขณะที่ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นธุรกิจไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้มาจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อให้เกิดก๊าซชีวภาพนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ตั้งแต่ด้านการจัดหาวัตถุดิบ การพัฒนาเมล็ดปาล์มที่ให้ผลผลิตคุณภาพสูง การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตให้หลากหลาย เช่น การต่อยอดธุรกิจจากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ การผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยคาดการณ์ภายใน 3-5 ปีข้างหน้าวางงบลงทุนราว 100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทพยายามเน้นเรื่องของ Automation ให้เรียบร้อยก่อนถึงจะกลับมามุ่งเป้าหมายในเรื่องการลงทุนเพิ่ม
“อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าอาจจะส่งผลเห็นชัดเจน เนื่องจากนำน้ำเสียในกระบวนการผลิตหมักเป็นแก๊ส และเดินเครื่องปั่นไฟ โดยคาดการณ์ Gross Profit Margin อยู่ที่ 50% ของไฟฟ้า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขอไลเซนส์กับ กฟผ. เพื่อจะขยายกำลังผลิตไฟเพิ่มมากขึ้น” นายสิทธิภาส กล่าวทิ้งท้าย