CGSI มอง 7 แบงก์โกยกำไร Q1 เฉียด 5 หมื่นล้าน ยก SCB-BBL ท็อปพิก

CGSI คาดการณ์แบงก์ไทย 7 แห่ง ทำกำไรไตรมาส 1/67 ที่ระดับ 4.98 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัว 17% จากไตรมาสก่อนหน้า พร้อมยกให้ SCB-BBL เป็นท็อปพิกกลุ่ม


บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ว่าธนาคารพาณิชย์ไทย 7 แห่งที่ทำการศึกษาจะทำกำไรสุทธิไรมาส 1/67 รวมที่ระดับ 4.98 หมื่นล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน

โดยเชื่อว่ากำไรจะลดลงจากปีก่อนเนื่องจากอัตราการสำรองหนี้สูญสูงกว่าช่วงเวลา เดียวกันของปีที่แล้ว แต่ส่วนหนึ่งจะชดเชยด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรจะเติบโตจากไตรมาสก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในไตรมาส 4 จึงน่าจะทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจาก 49% ในไตรมาส 4/66 เป็น 45.7% ในไตรมาส 1/67

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่ากลุ่มธนาคารจะมีอัตราส่วน NPL อยู่ที่ประมาณ 3.61% ในไตรมาส 1/67 หรือเพิ่มขึ้นจาก 3.59% ในไตรมาส 4/66 แต่ยังต่ำกว่า 3.68% ในไตรมาส 1/66 และสถิติสูงสุดช่วงสามปีที่ผ่านมาที่ 4.2% ในไตรมาส 3/64 (จากการระบาดของโควิด-19)

ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากลุ่มธนาคารไทยจะมียอดสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/67 เติบโต 0.5% จากปีก่อน แต่ลดลง 0.1% จากไตรมาสก่อน โดยธนาคารน่าจะยังมีการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า SME แบบ selective เพราะมองว่า SME น่าจะมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่การฟื้นตัวของยอดขายยังไม่แน่นอน

ขณะที่ในไตรมาสแรกนี้ยังพบว่าธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ารายย่อยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ส่วนความต้องการสินเชื่อธุรกิจน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 1/67 ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่า NIM จะเพิ่มขึ้น 40bp จากปีก่อน แต่ลดลง 3bp จากไตรมาสก่อนเป็น 3.63% ในไตรมาสแรกนี้ เนื่องจากเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อ (หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะจุดสูงสุดที่ 2.5% ในเดือนพ.ย. 66) จะเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าต้นทุนดอกเบี้ย ซึ่งปรับตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารไทยจะมีอัตราการสำรองหนี้สูญอยู่ที่ 156bp ในไตรมาส 1/67 (+8bp จากปีก่อน, -23bp จากไตรมาสก่อน) โดยเชื่อว่าอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลงจากไตรมาสก่อนมาจาก KBANK และ KTB เป็นหลักเนื่องจากธนาคารทั้งสองแห่งบันทึกอัตราการสำรองหนี้สูญสูงถึง c.200-220bp ในไตรมาส 4/66 จากการเคลียร์งบดุลเชิงรุก

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่อัตราการสำรองหนี้สูญโดยรวมของธนาคารไทยอยู่ที่ระดับ 160bp แสดงให้เห็นว่าธนาคารมีความระมัดระวังเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ แม้จะมีอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL สูงถึง 190% ในไตรมาสแรกนี้ ทั้งนี้อัตราการสำรองหนี้สูญในไตรมาส 4/66 ของ KTB และ KBANK สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งและบริษัทที่ เกี่ยวข้อง ซึ่งธนาคารกำลังจับตาดูคุณภาพเครดิตที่อาจลดลง

ทั้งนี้ ยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุน (Overweight) ในกลุ่มธนาคารไทยเพราะมองว่ากลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ (จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ) และคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นในปี 67 ขณะที่ยังคงเลือก BBL และ SCB เป็นหุ้นท็อปพิกเนื่องจากมีการประเมินมูลค่าน่าสนใจและกำไรสุทธิมีแนวโน้มเติบโตสม่ำเสมอ (c.8% จากปีก่อน ในปี 67)

โดยเชื่อว่าปัจจัยบวกที่จะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นคือ การที่ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจาก GDP ที่ขยายตัวแข็งแกร่งและผลดีจากอัตราดอกเบี้ยสูง แต่กลุ่มธนาคารจะมี downside risk หากคุณภาพสินทรัพย์ลดลงและมี การประกาศมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดของ หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจึงส่งผลให้สินเชื่อเติบโตชะลอตัว

Back to top button