“ศุภมาส” สั่งด่วนเฝ้าระวัง “แคดเมียม” พื้นที่สมุทรสาคร

ด่วน! "ศุภมาส” รมว. ศุภมาส สั่งหน่วยงาน “DSS วศ.อว” ลงพื้นที่จ.สมุทรสาคร เตรียมเฝ้าระวัง-ควบคุมกาก“แคดเมียม” สารก่อมะเร็ง พร้อมให้ข้อแนะนำและวิธีสังเกตอาการ ป้องกันผลกระทบ


ผู้สื่อข่าวรายงาน เช้าวันนี้ (5 เม.ย. 67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจากกรณีกากแคดเมียม จึงสั่งการด่วนให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. นำโดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ พร้อมลงพื้นที่และให้การสนับสนุนภารกิจกรณีกากแคดเมียมที่สมุทรสาคร เพื่อร่วมเฝ้าระวังควบคุมป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ขณะนี้ กรม วศ. พร้อมส่งหน่วยปฏิบัติการ DSS Team วศ.อว. เข้าให้การสนับสนุนภารกิจและประสานการตรวจทางห้องปฏิบัติการกรณีดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำด้านวิทยาศาสตร์ในการควบคุมสถานการณ์ เฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้

1. แคดเมียม (Cd) เป็นโลหะหนัก พบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย สามารถพบแร่แคดเมียมได้ในอาหาร น้ำ เหมือง และส่วนน้ำทิ้ง น้ำเสีย และยังสามารถพบกากแร่แคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร ในประเทศไทยพบการปนเปื้อนสารแคดเมียมมากในตะกอนดินที่ห้วยแม่ตาว ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก

2. อันตรายจากแคดเมียมเกิดขึ้นได้หากแคดเมียมถูกความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควันกระจายสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อร่างกายสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปอด ไต และตับจะถูกทำลาย ถ้าหากหายใจควันเข้าไปในปอดจะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้นจนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้ ยังเกิดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ดังกรณีในอดีตชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารทะเล ข้าว อาหารที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมที่ถูกปล่อยจากโรงงานสารเคมีผ่านระบบระบายน้ำเสีย ทำให้มีผู้ได้รับสารปนเปื้อนจำนวนมากเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ปวดบริเวณแขน ขา สะโพก ฟัน อาการเหล่านี้สะสมนานถึง 20-30 ปี จนทำให้ร่างกายเดินไม่ไหว เกิดการกดทับของกระดูกสันหลัง เมื่อได้รับแคดเมียมสะสมมาก ๆ จะสังเกตเห็นวงสีเหลืองที่โคนของซี่ฟัน ซึ่งจะขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ จนอาจเต็มซี่ ถ้าขนาดของวงยิ่งกว้างและสียิ่งเข้มก็แสดงว่ามีแคดเมียมสะสมมากจนเรียกชื่อโรคนี้ว่า “อิไต-อิไต (Itai-Itai disease)” (ภาษาญี่ปุ่น อิไต-อิไต แปลว่าเจ็บ)

โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังทำอันตรายต่อไตเกิดโรคไตอย่างรุนแรง ทำให้สูญเสียประสาทการดมกลิ่นและทำให้ เลือดจาง ถ้าได้รับปริมาณมากระยะสั้น ๆ จะมีอาการจับไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะ อาเจียน อาการนี้จะเป็นได้นานถึง 20 ชั่วโมงแล้วตามด้วยอาการเจ็บหน้า อก ไอรุนแรง น้ำลายฟูม ดังนั้น เมื่อใดมีไอของแคดเมียม เช่น จากการเชื่อมเหล็กชุบ ควรใช้หน้ากากป้องกันไอและฝุ่นของแคดเมียม หรือสารประกอบแคดเมียม ในขณะทำงาน

สำหรับอาการส่วนใหญ่มักเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หรือนอนไม่หลับ บางครั้งมีความรู้สึกว่าสมองล้า ลืมง่าย หรือความคิดสร้างสรรค์เรื่องงานลดลง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน จะทำให้อาการแย่ลงหรือว่าการรักษาไม่สำเร็จผลอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งผู้ที่ได้รับสารพิษโลหะหนักอาจจะพบว่ามีอาการภูมิแพ้แบบไม่ทราบสาเหตุ หรือมักจะมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรมีอาการเฝ้าระวังสุขภาพในผู้มีความเสี่ยงจากกรณีดังกล่าว

3. หากพบผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ต้องมีระบบส่งต่อผู้ป่วยสู่การรักษา ซึ่งมีวิธีรักษา คือการกำจัดหรือล้างสารพิษโลหะหนักในร่างกาย ทำได้โดยการให้สารทางหลอดเลือดเพื่อที่จะไปจับกับโลหะหนักออกจากร่างกาย ซึ่งวิธีนี้มีการใช้ยาวนานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันก็ยังมีที่ใช้อย่างแพร่หลายทางพิษวิทยา แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

4. ควรมีการเฝ้าระวังและควบคุมปัญหาในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนแคดเมียมในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่เพาะปลูก เพราะแคดเมียมไม่สามารถถูกย่อยสลายได้ และสามารถถูกสะสมผ่านทางห่วงโซ่อาหารได้ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการบำบัดพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ วิธีการทางชีวภาพ

โดยเฉพาะการใช้พืชในการบำบัดดินปนเปื้อน แต่การใช้พืชในการบำบัดยังมีประสิทธิภาพที่จำกัด เช่น การนำจุลินทรีย์ต้านทานแคดเมียมบางสายพันธุ์ ที่มีความสามารถในการช่วยส่งเสริมการเติบโตของพืช หรือช่วยในการละลายหรือเคลื่อนที่แคดเมียมให้หลุดออกมาจากดิน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถดูดดึงแคดเมียมขึ้นไปสะสมในพืชได้มากขึ้นรวมทั้งการที่พืชเติบโตดีขึ้นจะมีมวลชีวภาพที่มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีในการนำพืชไปใช้ในการบำบัดโลหะหนักในดิน กระบวนการนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบำบัดโลหะหนักในดินด้วยพืชโดยการเติมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้ จังหวัดสมุทรสาครและทุกหน่วยงานได้เข้าคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ถูกต้องตามหลักวิชาการ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

Back to top button