เปิด 10 หุ้น mai ไตรมาสแรกวิ่งคึกเกิน 30% นำโด่ง CHOW ทะยาน 90%

เปิดรายชื่อ 10 หุ้น mai ไตรมาส 1/67 วิ่งแรงเกิน 30% นำโด่ง CHOW ทะยาน 90% รับผลงานปีนี้โตเด่น พ่วงลุ้นผลงานไตรมาสแรกสดใส


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงไตรมาส 1/67 เปรียบเทียบจากราคาหุ้นปิดสิ้นสุดปี 66 (28 ธ.ค.66) กับราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 29 มี.ค.67 โดยคัดเลือกมา 10 อันดับแรกของกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นเกิน 30%

ขณะที่ทิศทางตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 3 เดือนแรกปีนี้ปรับตัวขึ้นเล็ก โดยเทียบจากดัชนี ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 411.61 จุด บวก 0.11 จุด มาอยู่ที่ระดับ 411.72 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.03% เนื่องจากภาวะตลาดยังเผชิญปัจจัยลบจากภาวะสงครามตะวันออกกลาง ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐกดดัน

สำหรับกลุ่มหุ้น mai ในช่วงไตรมาส 1/67 ที่ปรับตัวขึ้นแรง 10 อันดับแรก ได้แก่ CHOW, MGI, PROS, NDR, TRT, TPS, SK, ITTHI, LIT และ MASTER โดยหุ้นดังกล่าวปรับตัวขึ้นแรงส่วนใหญ่จากตัวเลขผลประกอบปี 2566 ออกมาโดดเด่นในช่วงดังกล่าว และแนวโน้มธุรกิจปี 2567 เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนและแผนธุรกิจที่โดดเด่น นอกจากนี้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 1/67 ที่คาดว่าจะออกมาสดใส ดังนั้นจะขอนำเสนอข้อมูลประกอบราคาหุ้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงทุนใน 5 อันดับดังนี้

สำหรับอันดับ 1 คือ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 1.51 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 มาอยู่ที่ระดับ 2.90 บาท ณ วันที่ 29 มี.ค.67 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 92.05%

ด้านนายปรมัตถ์ จุฬวนิช ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน CHOW เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจของ CHOW ในปี 67 ว่ามีทิศทางเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องจากปี 66 ทั้งธุรกิจผลิตเหล็ก และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) หลังจากที่ปีก่อนหน้าทางฝ่ายบริหารได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ จนสามารถสร้างผลประกอบการให้เติบโตมาเป็นลำดับ โดยในธุรกิจเหล็กได้ปรับมาเป็นผู้รับจ้างผลิตเหล็กแท่งบิลเลตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (OEM) ทั้งยังขยายผลิตภัณฑ์ไปยังเหล็กแปรรูปอีกหลายประเภทภายใต้มาตรฐานอุตสาหกรรม จนสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างโดดเด่นในปี 66

โดยปัจจัยหลักมาจากภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และให้ความร่วมมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายจะมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเพิ่มเป็น 250 เมกะวัตต์ในปีนี้ ในขณะที่ธุรกิจพลังงานในต่างประเทศยังเดินหน้าต่อไปทั้งในญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

อันดับ 2 คือ บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 19.00 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 มาอยู่ที่ระดับ 36.25 บาท ณ วันที่ 29 มี.ค.67 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 90.79%

สำหรับราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงเนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าไปซื้อเก็งกำไร จนทำให้โบรกเกอร์ออกมาเตือนราคาหุ้นเกินพื้นฐาน นอกจากนี้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศให้ MGI เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย Cash Balance ระดับ 1 และ 2 และถือเป็นหลักทรัพย์ตัวแรกที่ถูกประกาศให้ขึ้นเครื่องหมาย Pause (P) ถึง 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติ โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ จนเป็นเหตุให้เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3

โดยหลังจากหลังจากตลาดฯปลดเครื่องหมาย P ครั้ง 2  ให้กับมาซื้อขายได้นักลงทุนก็ทยอยขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจนล่าสุดวันนี้(5 เม.ย.67) ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 22.50 บาท

อันดับ 3 บริษัท พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PROS ราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.74 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 มาอยู่ที่ระดับ 1.38 บาท ณ วันที่ 29 มี.ค.67 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 86.49%

ด้ายนายพงศ์เทพ รัตนแสงสรวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROS เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทฯ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้ 1. เดินหน้าธุรกิจก่อสร้างงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ซึ่งเป็น Core Business 2. ปรับการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น 3.เน้นรับงานระยะสั้นรับรู้รายได้และกำไรเร็ว 4. เน้นรักษาฐานลูกค้าเดิมเป็นหลัก และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่บางส่วน 5.ควบคุมบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

บริษัทพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตในอนาคต เช่น งานระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar roof), โรงพยาบาลเฉพาะทาง (Healthcare Business), เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานสำหรับระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศในอาคาร เป็นต้น อีกทั้งยังมองเห็นถึงโอกาส จากการเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคงานก่อสร้าง ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น โครงการก่อสร้างที่พักข้าราชการทหาร, โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), โครงการแลนด์บริดจ์, โครงการก่อสร้างสนามบินอันดามัน

ทั้งนี้ ณ สิ้นธันวาคม 2566 บริษัทมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการรับงานใหม่ในช่วงปลายปี ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/66 มีการทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องตามการส่งมอบงาน ดันผลงานโค้งสุดท้ายของปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น

ภาพรวมธุรกิจของ PROS ในปี 2566 ยังคงเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนในงานโครงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในขณะที่ภาวะการแข่งขัน รวมถึงต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรง เป็นปัจจัยที่บริษัทฯ ต้องบริหารอย่างใกล้ชิด

“ดังนั้น ในปี 2567 บริษัทฯ มุ่งเดินหน้าธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ควบคุมต้นทุน บริหารความเสี่ยง รับงานที่เชี่ยวชาญ ไม่ได้โฟกัสที่ปริมาณงาน แต่เน้นรับงานที่สามารถสร้างรายได้และกำไร PROS เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อเดินหน้าธุรกิจรองรับนโยบายการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน วางทิศทางขยายสู่ธุรกิจที่มีโอกาสและมีแนวโน้มการเติบโต พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน”  นายพงศ์เทพ กล่าวทิ้งท้าย

อันดับ 4  บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 1.19 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 มาอยู่ที่ระดับ 2.02 บาท ณ วันที่ 29 มี.ค.67 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 69.75% คาดนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็ก ประกอบกับราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นที่ระดับ 2.17 บาท

อันดับ 5 บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 2.48 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.66 มาอยู่ที่ระดับ 3.70 บาท ณ วันที่ 29 มี.ค.67 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น 49.19%

ด้านนายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ TRT เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจภายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 10% จากการวางแผนการธุรกิจและการบริหารงานภายในที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวม 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดส่งออกจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10%

โดยบริษัทวางแผนเจาะตลาดในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและหม้อแปลงมาอย่างยาวนานนับ 100 ปี ถือเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับบริษัทในการทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร เพื่อขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงกลางปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 เป็นต้นไป

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะทำรายได้ 2,783 ล้านบาท หรือเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,111 ล้านบาท มาจาก 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) มีลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐ อาทิ บริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั่วไป ตลาดต่างประเทศทั่วโลก ธุรกิจการให้บริการ รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย คาดว่าจะทำรายได้ 2,590 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง (Non-Transformer) อาทิ รถกระเช้า, รถเครน, ถังหม้อแปลงไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเธียม คาดว่าจะทำรายได้ 193 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีงานประมูลและเสนอราคาทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 15,271 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสร้างเป็นยอดขายและรายได้ประมาณ 20% ขณะเดียวกัน ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ในปี 2567 อีก 2,352  ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 2,191 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลงอีก 161 ล้านบาทด้วย และในปี 2568 อีก 130 ล้านบาท

Back to top button