จับตา! “เมียวดี” หลัง KNU ยึดสำเร็จ ทหารเมียนมาใช้สนามบิน “แม่สอด” ลี้ภัย 7-9 เม.ย.นี้

“รัฐบาลเมียนมา” ประสาน “ไทย” ขอเครื่องบินทหารลงจอดท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อรับทหารของเมียวดีที่ลี้ภัยช่วง 7-9 เม.ย.นี้ หลังถูกยึดโดย KNU สำเร็จ ฟาก “ผู้ว่าฯ ตาก” สั่งคุมเข้มชายแดนหลังยังไม่วางใจสถานการณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ออกแถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่ากองพันทหารเมียนมาในเมืองติงกะหยิงหย่อง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกราว 10 กิโลเมตร ยอมจำนนต่อนักรบเคเอ็นยูในพื้นที่ หลังมีการเจรจากันมานานหลายวัน ให้ทหารกองพันสุดท้ายในเมืองเมียวดี ยุติการสู้รบกับเคเอ็นยู

โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวหากเป็นความจริง จะถือเป็นการปราชัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของกองทัพ และรัฐบาลทหารเมียนมา หลังสูญเสียเมืองใหญ่หลายแห่งในรัฐฉาน ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และเมืองท่าในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของเมียนมา ตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา

อนึ่ง เมืองเมียวดีที่ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง เป็นหนึ่งในเมืองการค้าชายแดนสำคัญที่สุดของเมียนมา โดยมีพรมแดนทางตะวันออกติดกับอำเภอแม่สอด ในจังหวัดตากของไทย และมีแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนธรรมชาติ

ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่งตั้ง นางจูลี บิชอป อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของเลขาธิการยูเอ็น ด้านกิจการเมียนมาคนใหม่ แทน นางโนลีน เฮย์เซอร์ นักการทูตชาวสิงคโปร์ ซึ่งลาออกเมื่อเดือนมิ.ย. 2566 หลังปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 18 เดือน

ทั้งนี้ บิชอปจะประสานงานอย่างใกล้ชิด กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” กับวิกฤติการณ์ในเมียนมา ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาทั้งหมด โดยใช้กระบวนการทางการทูต และมีเมียนมาเป็นผู้นำในการตัดสินใจ

นอกจากนั้น ข้อมูลล่าสุดของยูเอ็น ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่า ชาวเมียนมามากกว่า 2.80 ล้านคน กำลังพลัดถิ่นอยู่ในประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (พีดีเอฟ) ทวีความรุนแรง ตั้งแต่เดือนต.ค.66 และชาวเมียนมาอีกราว 12.90 ล้านคน หรือประมาณ 25% ของประชากรทั้งประเทศ กำลังต้องการความช่วยเหลือทางอาหารอย่างเร่งด่วน

สำหรับความคืบหน้าหลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้าโจมตีกองบังคับการยุทธวิธี รวมทั้งกองพันที่ 275 ซึ่งเป็นค่ายทหารสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในตัวเมืองเมียวดี จนสามารถยึดพื้นที่จังหวัดเมียวดีได้

โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 ทหารฝ่ายต่อต้าน ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ในค่ายทหารกองบังคับการยุทธวิธี พบข้าวสารกว่า 1,000 กระสอบ น้ำดื่ม ถั่วเหลือง และเกลือ จึงนำไปแจกจ่ายประชาชนในจังหวัดเมียวดี

ต่อมาเมื่อเวลา 21:30 น. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำจากสายการบินเมียนมาแอร์ไลน์ ได้บินมารับทหารเมียนมา เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศ หลังจากที่นายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด

เครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คนตั้งแต่ระดับยศระดับนายพล พ.อ.พ.ต.และพ.ท.พร้อมครอบครัว 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง แต่คณะนายทหารเมียนมา ไม่มา จึงบินกลับไปประเทศเมียนมาทันที

ทั้งนี้ เนื่องจากทหาร KNU และฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อย โดยบรรยากาศในสนามบินไม่พบความเคลื่อนไหวของทหารเมียนมา มีแต่เจ้าหน้าที่อากาศยานที่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน และสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้

สำหรับทหารเมียนมา และครอบครัวที่จะเดินทางไปยังเมียนมา มีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67 นาย ทหารชั้นประทวน 410 คน ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน

โดยทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่ 7-9 เม.ย.นี้

เช่นเดียวกับผู้ใช้ทวิตเตอร์ @RonallChersan Breaking เครื่องบิน ATR-72 ของเมียนมา ลงจอดที่สนามบินแม่สอด จ.ตาก เมื่อครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา คาดว่า เป็นเครื่องบินที่ทางเมียนมาประสานไทยด่วน เพื่อขอบินมารับข้าราชการ นายทหาร เจ้าหน้าที่รัฐหลังเมืองเมียวดี (ตรงข้ามอ.แม่สอด) ถูกกลุ่มต่อต้านทหารเมียนมาเข้าควบคุมได้แล้ว

ด้าน นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และมีแผนการป้องกันตามแนวชายแดน โดยฝ่ายความมั่นคง พร้อมตำรวจตระเวนชายแดน และฝ่ายปกครองออกลาดตระเวนตามแนวชายแดน หากมีผู้หนีภัยจากการสู้รบข้ามมา ส่วนการข้ามแดน และขนถ่ายสินค้า ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีการปิดด่านพรมแดน

สำหรับจังหวัดเมียวดี ที่กลุ่มต่อต้านยึด ถือเป็นหนึ่งในเมืองชายแดนที่สำคัญของเมียนมา เนื่องจากเป็นประตูหลักนำเข้าสินค้าจากด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก เพื่อขนส่งต่อไปยังเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองมัณฑะเลย์ และเชื่อมต่อไปยังประเทศอินเดีย แต่ละปี ด่านชายแดนแม่สอดมีมูลค่าการค้ากว่าแสนล้านบาท ถือว่าเป็นประตูการค้าชายแดนใหญ่ที่สุดของไทยกับเมียนมา

ส่วนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ที่เชื่อมระหว่างอ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี ยังคงมีการข้ามแดน และขนส่งสินค้าปกติ

ทั้งนี้บริเวณชายแดนอำเภอแม่สอด ไม่ได้ยินเสียงดังคล้ายการยิงอาวุธปืน และ ระเบิดแล้ว แต่ยังคงมีชาวเมียนมา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบมาพักแรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมียนมา โดยปักหลักอาศัยอยู่ตามริมน้ำต่อเนื่อง เพราะยังไม่ไว้วางใจสถานการณ์

Back to top button