รัฐบาลแถลงชัด “เงินดิจิทัล 10,000” แจกไตรมาส 4/67 ได้แน่ 50 ล้านคน

"เศรษฐา" ตั้งโต๊ะแถลงชัด แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ใช้งบปี 67-68 ประชาชน 50 ล้านคนได้ใช้เงินไตรมาส 4 เน้นกระจายเงินสู่ระบบเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยกล่าวว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนร้านค้าจะได้ลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4/2567

นายเศรษฐา  กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันนโยบายนี้ยังเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนในระบบถึงฐานราก และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน

นายเศรษฐา  กล่าวว่า ความคุ้มค่าจะให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6% จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ ทั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และรอบคอบ

ทางด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มี[1]เงิน ได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมี[1]เงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

  1. เงื่อนไขการใช้จ่าย คือ ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น  ส่วนระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

ทั้งนี้การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

  1. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
  2. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มี[1]เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอน[1]เงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

  1. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
  2. แหล่งเงินจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท , การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท , การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 6 และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  3. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
  4. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับมติที่ได้รับความเห็นชอบในวันนี้ กระทรวงการคลัง จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

 

Back to top button