BTS ตัดบ่วงขาดทุนขาย KEX-มหากาพย์หนี้ “สายสีเขียว” จบสวย กทม.จ่ายก้อนแรก 2.3 หมื่นล้าน

BTS ตัดบ่วงขาดทุนขาย KEX เหลือถือ 2.96% ฟาก VGI ขายทิ้งเกลี้ยง ขณะที่มหากาพย์ปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว จบสวย กทม.จ่ายก้อนแรก 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านโบรกคาดผลงานปีนี้พลิกฟื้น!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX โดยในปี 2566 BTS เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 ของ KEX ถือหุ้นจำนวน 88,100,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.06% ขณะที่ VGI เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ถือหุ้นจำนวน 269,230,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15.45% สำหรับเหตุผลในการเข้าถือหุ้น KEX ของกลุ่มบีทีเอสนั้นเนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นถึงกระแสการเติบโตที่ดีในธุรกิจโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ ในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากกลุ่ม BTS ได้เข้าไปถือหุ้น KEX ผลประกอบการของ KEX ก็ถือว่าไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยในปี 2563 รายได้ของ KEX ปรับตัวลดลง 4.40% แตะ 18,917 ล้านบาท หลังบริษัทฯ ปรับกลยุทธ์ลดค่าส่งสินค้าเพื่อตีตลาดขนส่งแบบราคาประหยัด เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งที่รุนแรง

ต่อมาในปี 2564 กำไรของ KEX เริ่มหดตัว ซึ่งกำไรในไตรมาส 1/2564 ลดลงเหลือ 302 ล้านบาท หดตัว 18.70% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวล โดยผลจากการลดราคาค่าส่งสินค้าเริ่มชัดเจนในไตรมาส 3/2564 แม้ปริมาณการจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 46% และทำรายได้เพิ่มขึ้น 18.80% แต่กำไรกลับปรับตัวลงอย่างหนัก 95.61% จากปีก่อนหน้า เหลือเพียง 12.84 ล้านบาท สอดคล้องกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าที่รุนแรงจากการหั่นราคาขนส่ง

สำหรับปี 2565 ต้นทุนการขนส่งของ KEX ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสงครามรัสเซียยูเครน โดยจากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ในปี 2565 KEX มีผลขาดทุนหนักถึง 2,829 ล้านบาท มีรายได้รวม17,145.04 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 3,880.64 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 37.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,829.84 ล้านบาท สาเหตุหลักของการขาดทุนมาจากปริมาณการจัดส่งพัสดุที่ลดลงจากช่องทางแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ไปสู่การซื้อตามหน้าร้านค้า (Physical offline shopping) หลังการเปิดประเทศ

ขณะเดียวกันราคาหุ้นของ KEX ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และหากมองย้อนกลับไปในช่วงแรกที่KEX เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 24 .. 2563 โดยทันทีที่เปิดตลาดพบว่าราคาหุ้นขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 65.00 บาท มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 73 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 46.00 บาท แต่ปัจจุบันเมื่อวันที่ (10 เมษายน 2567) ราคาหุ้น KEX ได้ปรับตัวลงมาปิดอยู่ที่ 4.78 บาท

อย่างไรก็ตามจากผลประกอบการของ KEX ที่มีผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม BTS ด้วยเช่นกัน โดยผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2566/67 ขาดทุนสุทธิ 5,277 ล้านบาทสาเหตุหลักของขาดทุนในครั้งนี้มาจากผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวของผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX

ขณะที่งบไตรมาส 3 ปี 2566/67 (ตุลาคมธันวาคม 2566) ของ VGI ขาดทุน 3,339 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566/67 (เมษายนธันวาคม 2566) พลิกมาขาดทุนสุทธิ3,539 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 195 ล้านบาท โดยมีนัยสำคัญซึ่งมีสาเหตุจากการขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) รายงานแบบรายงานการจำหน่ายหุ้นของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX โดย 2 บริษัท ซึ่งเป็นการขายหุ้นตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ของบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ราคาหุ้นละ 5.50 บาท มีรายละเอียดดังนี้

ด้าน BTS ได้ดำเนินการขายหุ้น KEX ออกไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 รวมจำนวน 47,356,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน2.7176% ส่งผลให้ BTS เหลือหุ้นถือครองหลังวันทำรายการ 51,561,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.9589%

เช่นเดียวกับ VGI ได้ดำเนินการขายหุ้น KEX ออกไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 รวมจำนวน 269,230,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15.4501% ซึ่งเป็นการขายออกไปเกลี้ยงพอร์ต ส่งผลให้ VGI ไม่เหลือหุ้นถือครองหลังวันทำรายการ แล้วจะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ประมาณ 1,480 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลในการขายหุ้น KEX ของกลุ่ม BTS นั้น นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร VGI เปิดเผยว่า ราคา 5.50 บาทต่อหุ้น เป็นราคาที่ดี ตามที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) แนะนำไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ VGI ได้ตั้งด้อยค่าผลขาดทุนจากเงินลงทุนในเคอรี่ไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมองว่า KEX จะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทฯ ก็ไม่ต้องการรออีกต่อไป

ทั้งนี้ การตัดสินใจขายหุ้น KEX ในครั้งนี้จะทำให้ BTS และ VGI ไม่ต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมจาก KEX อีก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ BTS และ VGI ในอนาคตมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น

ส่วนมหากาพย์ปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่ลงนามโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่งสมุทรปราการ และช่วงหมอชิตสะพานใหม่คูคต

นับเป็นก้าวสำคัญของการเริ่มต้นปิดฉากมหากาพย์หนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีมูลค่าหนี้สินสูงระดับแสนล้านบาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในปี 2559 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกช่วงให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการเดินทางอย่างไร้รอยต่อของประชาชน พร้อมมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ก่อนจะมีลงนามสัญญาจ้าง BTSC เข้ามาดำเนินการ

โดยหนี้สินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นจากการจ้างงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL : E&M) ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟ งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงระบบอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บีทีเอสมีความพยายามทวงถามการชำระค่าติดตั้งงาน E&M มาอย่างต่อเนื่อง

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การที่ BTS ขายหุ้น KEX ออกไปบางส่วนที่ 2.76% และเหลือถือไว้ 2.96% แม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่ก็จะทำให้ผลประกอบการของ BTS ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมจาก KEX และไม่ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก KEX เป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานปกติปี 2567/68 ของ BTS จะดีขึ้นแน่อย่างนอน

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า คาดการณ์ว่าจะเห็นแนวโน้มผลกำไรของ BTS ในปี 2568 แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารสายสีเหลือง และสายสีชมพูเพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนแบ่งรายได้จาก VGI ที่สูงขึ้นหลังจากการขายหุ้นใน KEX ออกไปทั้งหมดแล้ว

นอกจากนั้น BTS ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อาทิ การชำระหนี้จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE BTS เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เม.. 67 BTS ได้รับเงินจากกทม. แล้ว เพื่อชำระหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองานE&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่งสมุทรปราการ และช่วงหมอชิตสะพานใหม่คูคต) วงเงิน23,488.69  ล้านบาท

สำหรับแผนการใช้เงินดังกล่าวส่วนใหญ่จะนำไปชำระหนี้ทั้งจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ และจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ BTS ดีขึ้นอย่างมากส่งผลให้ BTS มีเครดิตดีขึ้นหากต้องมีการกู้ยืมเพื่อลงทุนโครงการใหม่ๆ ในอนาคต รวมทั้งมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น โดยประเมินว่าผลประกอบการปี 2567/68 (เมษายน 2567-มีนาคม 2568) จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) มองว่ากรณี BTS ได้รับการชำระหนี้ด้านไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จากสีเขียวส่วนต่อขยาย จากกทม.มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นผลบวกต่อ BTS แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจลดอำนาจการต่อรองของบริษัทฯ ในการเจรจาสัมปทานค่าโดยสารเส้นทางหลักสายสีเขียวที่จะหมดอายุในปี 72 โดยเชื่อว่ากระแสเงินสดที่เข้ามาจะช่วยให้นักลงทุนคลายกังวล D/E ของ BTS ที่สูงถึง 1.63 เท่า

Back to top button