“ตลท.” สั่งนักลงทุนเคาะ “ออร์เดอร์ซื้อขาย” ผ่าน HFT ต้องลงทะเบียน
ตลท. วาง 2 แนวทางเพิ่มความเชื่อมั่น นลท. ยกระดับการซื้อขายหุ้น “Naked Short Selling” ผ่าน HFT ต้องลงทะเบียนและเผยข้อมูลผู้ลงทุนระดับบัญชี ขณะที่จัดเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียน หวังพัฒนาและชูศักยภาพตลาดทุนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (11 เม.ย. 67) ตามที่ประชุมคณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุนตามที่ได้เคยอนุมัติไว้ รวมถึงเห็นชอบแนวทางดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาและชูศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนี้
1.แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น มุ่งยกระดับการกำกับดูแล (Naked Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) โดยเฉพาะการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (HFT) ด้วยการกำหนดให้ต้องมีการยื่นคำขอหรือลงทะเบียนผู้ลงทุนที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT เพื่อให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับบัญชีย่อย (Sub-Account) ของบัญชีที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ (Omnibus Account)
ในขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบควบคุมการบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย (Pre-Trade Risk Management) เพื่อตรวจสอบการมีหลักทรัพย์ของลูกค้าที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT ก่อนที่จะส่งคำสั่งขายเข้ามาในระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ จะมีการกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว (Minimum Order Resting Time) เพื่อสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับความเร็วของการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งจะช่วยป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการส่งคำสั่งซื้อขายทุกประเภท
ทั้งนี้ มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายดังกล่าวข้างต้นอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2567 นี้
2.แนวทางการพัฒนาและชูศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกด้วยการเก็บรวบรวมและการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ความสามารถในการแข่งขันรายกลุ่มอุตสาหกรรม ภาวะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีการประกอบธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Economy) อันจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของภาครัฐ ออกมาเผยแพร่และต่อยอดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย
อีกทั้งจะให้การสนับสนุนข้อมูลและงบประมาณให้กับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อจัดทำ Industry Analysis & Outlook Report รวมถึงจะประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน อันจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Economy) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย