JAS จ่อซื้อหุ้นคืน พ.ค.นี้! ดัน JTS เรือธงปักหมุดธุรกิจ AI

JAS นัดประชุมบอร์ดภายใน 1-2 สัปดาห์นี้อนุมัติโครงการ “ซื้อหุ้นคืน” ประกาศต้นเดือน พ.ค. พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจใหม่ ยก “จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น” เป็นเรือธง พบสถิติ 6 ครั้งล่าสุด ซื้อหุ้นคืนแล้วไม่มีขายออก เท่ากับลดจำนวนหุ้นหมุนเวียนในกระดาน โอกาสรับเงินปันผลต่อหุ้นสูงขึ้น รวมทั้งราคาขยับขึ้นในระดับที่ P/E เท่าเดิม ด้านบล.กสิกรไทย มองส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น ช่วยดัน EPS สูงขึ้น ประเมินซื้อคืนไม่เกิน 10% จำนวน 850 ล้านหุ้น ใช้เงิน 2,388 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS มีการปรับตัวขึ้นเกือบ 40% จากราคาเฉลี่ยที่ 2 บาท ล่าสุด (11 เม.ย.) ปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 2.78 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยกว่า 150 ล้านบาทต่อวัน หลังจากนักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรเกี่ยวกับเรื่องการประกาศซื้อหุ้นคืนของ JAS ที่มีการคาดหมายกันว่าน่าจะมีความชัดเจนไม่เกินปลายเดือนนี้

แหล่งข่าวจาก JAS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ บริษัทเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เพื่อบริหารทางการเงิน เนื่องจากมองว่าราคาหุ้น JAS ที่ซื้อขายอยู่ในกระดานปัจจุบันต่ำกว่าพื้นฐานมากเกินไป โดยคาดว่าประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2567 จะประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนได้

ส่วนแผนธุรกิจปี 2567 และทิศทางการลงทุนธุรกิจใหม่ของบริษัทนั้น จะมีการประกาศในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ที่จะจัดขึ้นวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 10:00 น. ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting)

ทั้งนี้ จากข้อมูลช่วง 14 ปีที่ผ่านมา พบว่า JAS มีการซื้อหุ้นมาแล้ว 6 ครั้ง เริ่มจากปี 2552 จำนวน 1,397,727,200 หุ้น หรือ 14.82% มูลค่ารวม 615 ล้านบาท, ปี 2553 จำนวน 739,949,138 หุ้น หรือ 10% มูลค่ารวม 300 ล้านบาท, ปี 2554 จำนวน 724,425,137 หุ้น หรือ 10% มูลค่ารวม 300 ล้านบาท, ปี 2555 จำนวน 106,857,000 หุ้น หรือ 1.47% มูลค่ารวม 298 ล้านบาท, ปี 2557 จำนวน 713.73 ล้านหุ้น หรือ 10% มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท, ปี 2559 จำนวน 1,200 ล้านหุ้น หรือ 16.82% มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท โดยทั้ง 6 ครั้งไม่มีการขายหุ้นที่ซื้อคืนออกมา แต่ใช้วิธีการลดทุนด้วยการตัดหุ้นที่ซื้อคืนออกไปทั้งหมดแทน

สำหรับผลดีจากการซื้อหุ้นคืนดังกล่าว ในแง่ผู้ถือหุ้น JAS จะได้ประโยชน์จากกำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้น เนื่องจากหุ้นที่ถูกซื้อคืนจะไม่ถูกนำมาคำนวณกำไรต่อหุ้น มีโอกาสได้รับเงินปันผลต่อหุ้นสูงขึ้น และมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ P/E เท่าเดิม

ส่วนในแง่บริษัทถือเป็นการช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เป็นการลดจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้น และใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินในการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินบริษัทให้เกิดประสิทธิผล

นอกจากนี้ เป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หากผู้บริหารของบริษัทมั่นใจผลการดำเนินงาน และเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ และการซื้อหุ้นคืนและขายกลับช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยบันทึกผลต่างของราคาเป็นส่วนเกินมูลค่าหุ้นซื้อคืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผู้ถือหุ้น

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการซื้อหุ้นคืนของ JAS ถือว่าเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากจะทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้น จากจำนวนหุ้นที่ลดลง ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายปันผลทางอ้อมวิธีหนึ่ง

ผลดีจากการซื้อหุ้นคืนจะทำให้จำนวนหุ้นในกระดานน้อยลง กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาหุ้น JAS เพิ่มขึ้นด้วย” นายพิสุทธิ์ กล่าว

 ทั้งนี้ คาดว่าจะซื้อหุ้น JAS คืนไม่เกิน 10% โดยจะใช้เงิน 2,388 ล้านบาท (คิดจากราคาหุ้น ณ วันที่ 11 เม.ย. ที่ 2.78 บาท) โดยปัจจุบันกำไรสะสมในงบเฉพาะกิจการมีจำนวน 271 ล้านบาท และงบการเงินรวม 1,900 ล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องมีกว่า 9,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือรายใหญ่ มีโอกาสที่จะขายหุ้น JAS คืนให้กับบริษัทได้ จากปัจจุบันบริษัทมีหุ้นทั้งหมด 8,500 ล้านหุ้น คาดว่าจะซื้อหุ้นคืนจำนวน 850 ล้านหุ้น หรือ 10% ของหุ้นทั้งหมด

สำหรับข้อบังคับการซื้อหุ้นคืน หากซื้อหุ้นคืนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% ของทุนชำระแล้ว มอบอำนาจให้คณะกรรมการมีอำนาจตัดสินใจในการซื้อหุ้นคืนได้ แต่หากซื้อหุ้นคืนมากกว่า 10% ของทุนชำระแล้ว ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นและต้องซื้อหุ้นคืนภายใน 1 ปี

ขณะที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลทาวเวอร์ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีโซลูชั่น ร่วมกับเคที เทเลคอม (KT Telecom) บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของเกาหลีใต้ ประกาศเริ่มต้นโครงการความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (LLM) ที่ล้ำสมัยบนแพลตฟอร์ม Generative AI นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมระหว่าง JTS และ KT ในช่วงการจัดงานประชุม Mobile World Congress 2024 ณ กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ ผนึกกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรม LLM ขนาดพารามิเตอร์ 8 หมื่นล้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ KT ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนา Korea LLM, Mi:dm ขนาด 2.10 แสนล้านพารามิเตอร์ ในปี 2562 ดังนั้นโครงการความร่วมมือระหว่างสองผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมดังกล่าว จึงถือเป็นก้าวสำคัญสู่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย

Back to top button