“เอสซีจี พลาสติกส์” อ่วม! สหรัฐสั่งปรับกว่า 700 ล้าน ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตร “อิหร่าน”

"เอสซีจี พลาสติกส์" (SCG Plastics) บริษัทผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติไทย ถูกทางการสหรัฐสั่งปรับราว 20 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 736 ล้านบาท ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สั่งปรับเงิน บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีภัณฑ์ชั้นนำในไทย จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐมากกว่า 450 ครั้ง

โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 เมษายน ระบุว่า บริษัทเอสซีจี พลาสติกส์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ตกลงที่จะจ่ายค่าปรับดังกล่าวเพื่อยุติปัญหาการละเมิดการคว่ำบาตรอย่างชัดเจนถึง 467 ครั้ง ซึ่งการละเมิดเหล่านี้ได้ทำให้สถาบันการเงินของสหรัฐต้องดำเนินการโอนเงินจำนวน 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2560-2561 ให้กับบริษัทที่มีบริษัทเนชั่นแนล ปิโตรเคมีคัล จำกัด ของอิหร่านร่วมเป็นเจ้าของด้วย

“เอสซีจี พลาสติกส์ จงใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายปีเพื่อปกปิดความจริงที่ว่า HDPE มีแหล่งที่มาจากอิหร่านซึ่งอ้างถึง HDPE ที่ก็คือ พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีนที่ใช้ในการผลิตขวดแชมพูและบรรจุภัณฑ์อาหาร” กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าว

กระทรวงการคลังสหรัฐระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความจงใจที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสถาบันการเงินในการดำเนินการทางธุรกรรมและหลบเลี่ยงมาตรการที่สถาบันการเงินเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยังระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรสหรัฐ มุ่งเป้าไปที่บุคคล 16 รายและหน่วยงาน 2 แห่งที่ทำให้อิหร่านสามารถผลิตโดรนได้ รวมถึงโดรนชาเฮด (Shahed) ของอิหร่านที่นำมาใช้ในการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา

อิหร่าน ระบุว่า ทำการโจมตีเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลถล่มสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศซีเรียเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายรวมถึงนายพลของอิหร่าน 2 คน

อนึ่ง บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ ดำเนินธุรกิจ (1) การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน โดยออกแบบให้รีไซเคิลได้ง่าย (2) การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) (3) การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Advanced Recycling Process) และ (4) การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG

Back to top button