SPREME เคาะราคาไอพีโอ 2.60 บ. จองซื้อ 23-25 เม.ย. ลงสนามเทรด SET 2 พ.ค.นี้!
หุ้นน้องใหม่ SPREME เคาะราคาไอพีโอ 2.60 บาท เปิดจองซื้อ 23-25 เม.ย.67 ลุยลงสนามเทรด SET วันที่ 2 พ.ค.นี้ ชูจุดเด่นผู้นำกลุ่มเทคโนโลยีการศึกษาครบวงจร-จ่ายปันผล 40% ของกำไรสุทธิ หวังระดมทุนขยายดีล M&A วางเป้าปีนี้ผลงานโต 15% เดินหน้าโปรเจคใหญ่รัฐ-เอกชน หลังตุนแบ็กล้อกแน่นกว่า 400 ล้านบาท
นายธีรฉัตร ศิลปสนธยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SPREME ได้เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) รวม 200 ล้านหุ้น เป็นหุ้นสามัญออกใหม่ 180 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่ PSN Capital Limited เสนอขาย 20 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท รวมมูลค่า 520 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) เท่ากับ 12.29 เท่า
โดยเปิดจองซื้อหุ้น IPO ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.67 ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายฯ และละผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต้นเดือนพฤษภาคม 2567
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน จำนวน 370 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว จำนวน 280 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังจากหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทและกฎหมาย
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ราว 449 ล้านบาท 1) เพื่อเป็นเงินทุนรองรับการประมูลโครงการที่มีขนาดใหญ่ 230 ล้านบาท 2) เพื่อลงทุนซื้อกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม (M&A) 110 ล้านบาท และ 3) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 109 ล้านบาท
“บริษัทเชื่อว่า SPREME จะเป็นหุ้น Hybrid ที่เป็นทั้งหุ้นที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและรวดเร็ว (Growth Stock) จากผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่ให้ปันผลสูง (Dividend Stock) ซึ่งราคาไอพีโออยู่ที่ 2.60 บาท ถือเป็นราคาที่เหมาะสมกับการเติบโตของบริษัท ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้” นายธีรฉัตร กล่าว
นายภาณุวัฒน์ ขันธโมลีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPREME เปิดเผยว่า เนื่องด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆปี ประกอบกับภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ บริษัทในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีครบวงจร จึงมีความพร้อมรอบรับเมกะเทรนด์เหล่านี้
โดยการนำบริษัทเข้าสู่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ภายใต้ชื่อหลักทรัพย์ “SPREME” เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต รองรับโครงการใหญ่ในอนาคตของภาครัฐที่กำลังจะมาถึง การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ (M&A) ตลอดจนการขยายสู่อุตสาหกรรมอื่นๆในวงกว้าง
สำหรับ SPREME ประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่าย System Integrator : SI (ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้ง) เริ่มตั้งแต่การออกแบบ จัดหา ติดตั้งแอปกรณ์ ตลอดจนการให้บริการหลังการขาย โดยการมีศูนย์บริการครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา โดยธุรกิจ SI ซึ่งเป็นธุรกิจหลักนี้ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 80%
2. ธุรกิจให้บริการดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ธุรกิจ MA) เพื่อดูแลให้ลูกค้าสามารถใช้งานระบบเทคโนโลยีได้อบย่างเหมาะสม สอดคล้องตามอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ โดยบริษัทให้ความสำคัญต่อธุรกิจนี้เป็นเศษ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 8-10%
3. ธุรกิจให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ธุรกิจให้เช่า) โดยบริษัทจัดหาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งให้บริการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบตามกำหนดเวลาราว 3-5 ปี รวมทั้งซ่อมแซมและเปลี่ยนชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 8-10%
ส่วนแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 15% โดยมีงานรอรับรู้รายได้ในมือ (Backlog) ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนผ่าน สอดรับนโยบายและงบประมาณของรัฐบาลที่เอื้ออำนวย โดยบริษัทมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในส่วนของภาครัฐจำนวน 30% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้ ประกอบกับฐานลูกค้าเอกชน (ตัวแทนจำหน่ายของบริษัท) จำนวน 70% และคาดการณ์ว่าจะกลายเป็น 50% ภายหลังการระดมทุนเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าจะสามารถเข้าร่วมประมูลงานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1, 000 ล้านบาท และมีโอกาสได้งานสูงถึง 80% ทั้งด้านการศึกษาของภาครัฐ รวมถึงเอกชนที่เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยคาดการณ์ว่าจะเข้าประมูลงานใหม่ภายในเดือนพฤษภาคมที่ใกล้จะถึงนี้ ขณะเดียวกัน ยังมุ่งขยายดีล M&A ใหม่ และขยายธุรกิจนอกอุตสาหกรรมหลักอย่างการศึกษา ไปยังธุรกิจสาธารณะอื่นๆทั่วไป และยังคาดการณ์ว่าจะเพิ่มศูนย์ให้บริการอีก 2 สาขาทางภาคอีสานอีก 2 แห่ง รวมเป็น 5 แห่งในปีนี้
“บริษัท มุ่งให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีในการสื่อสาร ทางด้านการศึกษา ด้วยการเร่งการประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านการศึกษาของบุคลากรของภาครัฐ รวมถึงมีการเข้าร่วมธุรกิจ ESG และส่งเสริมความรู้ความสามารถทางด้านกีฬาอย่าง วอลเลย์บอล เพื่อให้น้องๆ เยาวชนได้ใช้ความสามารถสร้างผลงานที่ดีต่อไปได้” นายภาณุวัฒน์ กล่าว
ขณะที่นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บริษัทมีฐานลูกค้าที่หนาแน่นทั้งภาครัฐและเอกชน และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มเดียวกัน ประกอบกับมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ราว 0.7 เท่า ณ สิ้นปี 2566 และคาดการณ์ว่า ภายหลังการจดทะเบียน จะสามารถลดหนี้สินต่อทุนให้อยู่ที่ระดับ 0.4 เท่าได้ มีระยะเวลาเก็บหนี้จำนวน 40 วัน และมีระยะเวลาชำระหนี้ 60 วัน ส่งผลให้บริษัทมีสภาพหนี้คล่อง ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีการเติบโตแบบต่อเนื่อง เป็นผลให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
บริษัทยังสามารถทำยอดขายปัจจุบันได้อยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ลูกค้ารายใหญ่อย่างภาครัฐในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สอดคล้องกับนโนยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีและ AI และบริษัทก็เตรียมพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อไปจับมือพันธมิตรอื่นๆเสริมแกร่งธุรกิจ และขยายอุตสาหกรรมการผลิต และใช้เงินหมุนเวียนต่อยอดให้เติบโตต่อไป