TERA เทรดสนั่น! ชูประสบการณ์ 19 ปี การันตีผลงานโตต่อเนื่อง

TERA โชว์ประสบการณ์แน่น 19 ปี เตรียมเข้าระดมทุนในตลาด mai วันแรก มั่นใจกระแสตอบรับดี ระดมทุน 157.50 ล้านบาท ใช้ขยายธุรกิจคลาวด์-ทุนหมุนเวียน ผลักดันผลงานเติบโตต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 เม.ย.67) หลักทรัพย์ บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยี ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TERA”

โดย TERA มีทุนชำระแล้วหลัง IPO จำนวน 120 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 150 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของ NEX ที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) ไม่เกิน 36 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 41 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทหรือบริษัทย่อย ไม่เกิน 4.50 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย

รวมถึงผู้มีความสัมพันธ์ ไม่เกิน 8.50 ล้านหุ้น โดยเสนอขายผู้ลงทุนทุกประเภทระหว่างวันที่ 3-11 เม.ย 67 ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 157.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ระดับ 420 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 14.50 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในงวดปี 66 ซึ่งเท่ากับ 28.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ

ด้าน นายสุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ TERA เปิดเผยว่า ตนมั่นใจว่าหุ้น TERA จะได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุน เนื่องจากพื้นฐานธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งด้านฐานะการเงินและกระแสเงินสด ที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการทำกำไร และมีโอกาสเติบโตสูง บริษัทฯ มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากว่า 19 ปี และธุรกิจอยู่ในกลุ่มเมกะเทรนด์

ทั้งนี้ ภายหลังจากการระดมทุนในตลาด mai บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในระบบ T.Cloud Gen3: ต่อยอดความสำเร็จจาก T.Cloud Gen1 และ Gen2 ที่ TERA ให้บริการลูกค้ามาแล้ว มากกว่า 7 ปี ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจต่อไปในอนาคต อีกทั้งการระดมทุน จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตได้ตามแผนและกรอบเวลาที่ทางบริษัทฯ ได้วางไว้

บริษัทฯ มีความพร้อมในทุกด้านสำหรับการนำหุ้นไอพีโอ จำนวน 90 ล้านหุ้นของ TERA โดยมีราคาไอพีโอ 1.75 บาทต่อหุ้น เข้าซื้อขายวันที่ 24 เม.ย.67 นี้ ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ หรือนักลงทุน ในช่วงที่ผ่านมาถือได้ว่าหุ้น TERA ได้รับความสนใจและการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีมาก” นายสุรสิทธิ์ กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า TERA จะเป็นหุ้นไอพีโอที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ด้วยจุดเด่นที่เป็น IT Solution Provider ที่สำคัญของประเทศ มีฐานลูกค้าที่ครอบคลุมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐขนาดกลางและใหญ่ ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบ Cloud Services ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) รวมถึงระบบบริหารจัดการการขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System: TMS) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจ

ดังนั้น จึงมั่นใจว่า TERA จะมีโอกาสขยายธุรกิจได้อีกมากในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากผลการดำเนินงานสถิติย้อนหลังสามารถทำสถิติสูงสุดได้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 64-66 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 395.88 ล้านบาท 559.98 ล้านบาท และ 604.09 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกำไรสุทธิ 18.71 ล้านบาท 25.79 ล้านบาท และ 28.96 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิของ TERA ในช่วงปี 66-68 (CAGR) อยู่ที่ 21% เพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านบาทในปี 65 เป็น 46 ล้านบาทในปี 68

โดยมีปัจจัยหลัก คือ 1.การขยายตัวของการให้บริการระบบ T.Cloud ซึ่งในปัจจุบันมีสัญญาลูกค้ามากกว่า 100 สัญญา อัตราการรักษาลูกค้าเก่าสูงถึงประมาณ 94% 2.ขยายกลุ่มลูกค้าจากซอฟต์แวร์ Skyfrog และ 3.การเติบโตของอุปกรณ์ไอที

ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์กำหนดราคาเหมาะสมอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหุ้น พร้อมทั้งเชื่อว่าหลังจากเพิ่มทุน IPO บริษัทจะเน้นสร้างรายได้ประจำเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นขยายงานให้บริการด้านบริการระบบ Cloud (T.Cloud) Services ที่กำลังจะพัฒนาไปยัง Gen3

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของ TERA จะช่วยเพิ่มความสามารถการทำกำไร และคาดการณ์กำไรต่อหุ้นช่วงปี 66-68 เติบโตในอัตราเฉลี่ย 26.80% ต่อปี โดยกลยุทธ์การเติบโตหลักที่ TERA มุ่งเน้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การสร้างรายได้ที่มั่นคงด้วยรายได้ประจำสม่ำเสมอ หรือ Recurring Incomeซึ่งมีแผนเติบโตจาก 1.การเติบโตภายใน (Organic Growth) อย่างการพัฒนา Cloud Gen3 เพื่อรองรับการเติบโตของฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การต่อสัญญาซ้ำของลูกค้ามากกว่า 94%

อีกทั้ง มีธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับโลจิสติกส์อย่าง Skyfrog ช่วยหนุนการเติบโตในอนาคต และ 2.การเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) บริษัทมีแผนที่จะใช้เงินระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนไปยังธุรกิจ SMEs ในกลุ่มไอทีที่มีศักยภาพ และมีโมเดลธุรกิจแบบรายได้ประจำสม่ำเสมอเป็นส่วนใหญ่ เน้นความมั่นคงของการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหุ้น โดยอิงประมาณการในปี 67 อยู่ที่ 0.15 บาท บนค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5 ปี คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิสำหรับปี 66–68 อยู่ที่ 26.8%

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ TERA ปี 67 อยู่ที่ 2.20 บาท โดยมีจุดเด่นให้บริการ ICT Solution ครอบคลุมทั้ง Hardware และ Software System รวมทั้งเป็นพันธมิตรระดับ Platinum Partner กับ HPE ประกอบกับมีสัดส่วนรายได้ต่อเนื่องสูงเฉลี่ยต่อปีราว 45-50% และฐานะการเงินที่มั่นคงมีโอกาสได้รับงานเพิ่มเติม ซึ่งคาดการณ์กำไรสุทธิช่วง 3 ปี (66-68) เติบโตเฉลี่ย 12%

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 67 อยู่ที่ 2.20 บาท คาดการณ์กำไรสุทธิปี 66-68 เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3 ปี ที่ 28.80% ซึ่งหนุนจากทั้งรายได้จากการขายและรายได้และจากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มุมมองบทวิเคราะห์ 4 แห่ง ประเมินภาพรวมการเติบโตของ TERA ไปในทิศทางเดียวกันว่ามีพื้นฐานแข็งแกร่ง จากผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา รวมถึงความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่อาจทำให้ TERA มีโอกาสนำเสนอโซลูชั่นทางเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์มาตรฐานตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบประมวลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการป้องกันภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์เน้นสร้างรายได้ประจำเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นขยายงานให้บริการด้านบริการระบบ Cloud Services (T.Cloud) ซึ่ง TERA ได้ให้บริการ Gen1 และ Gen2 มาแล้วมากกว่า 7 ปี ที่กำลังจะพัฒนาไปยัง Gen3 ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของรายได้ TERA

Back to top button