“ชวลิต จันทรรัตน์” แนะวิธีรับมือ “โลกร้อน” ชี้ปี 67 อุณหภูมิสูงสุด 45 องศา
“ชวลิต จันทรรัตน์” แนะนำแนวทางรับมือสภาวะโลกร้อน ชี้ก.พ. ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก อุณหภูมิพื้นผิวโลกมีค่าเฉลี่ย 1.77 องศา คาดปีนี้อุณหภูมิสูงสุดจะขึ้นไปถึง 45 องศา แนะเก็บกักน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค พ่วงเตรียมรับมือ “ลานีญา” ช่วงมิ.ย.-ส.ค.นี้
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกมีค่าเฉลี่ย 1.77 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2393-2443 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นค่าฐาน (อ้างอิง: The Copernicus Climate Change Service, EU, March, 2024)
นอกจากนั้นอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ย 12 เดือน ตั้งแต่มีนาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือน ของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึง 1.56 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงมากกว่าค่าตาม Paris Agreement (COP21, 2015) ที่ 196 ประเทศได้ประชุมตกลงกันไว้ว่าจะควบคุมไม่ให้สูงเกิน 1.50 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกรายวันสูงกว่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2.00 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน หมายความว่ามนุษย์จะต้องเผชิญกับสภาวะความแปรปรวนของภูมิอากาศที่จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติกันแล้วหรือไม่
โดยปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2567 เป็นช่วงที่มีภูมิอากาศแบบเอลนีโญ ส่งผลให้ประเทศไทย พบกับภาวะฝนน้อยน้ำน้อยและอุณหภูมิสูงกว่าปีปกติประมาณ 1.0 ถึง 1.5 องศาเซลเซียส ผลจากการตรวจวัดอุณหภูมิผิวทะเลกว่า 200 จุด และจากการวิเคราะห์พยากรณ์โดยใช้แบบจำลองกว่า 30 แบบ โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติอเมริกา (NOAA) เผยแพร่เมื่อ 15 เมษายน 2567 สรุปว่า มีโอกาส 85% ที่สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ (เป็นกลาง) ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เป็นเวลาสั้นๆ และมีโอกาส 60% ที่จะเข้าสู่ภาวะลานีญา (ฝนมากน้ำมาก) ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยเคยมีอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 โดยคาดว่าปีนี้อุณหภูมิสูงสุดจะขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้น้ำจากแหล่งเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะสระเก็บน้ำประจำหมู่บ้านขนาดเล็ก ที่จะมีการระเหยมาก และแห้งลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์ ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 นี้
โดยจำเป็นต้องเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไว้ให้เพียงพอประมาณ 1 เดือน ทั้งในแต่ละครัวเรือน และในระดับหมู่บ้าน โดยทางราชการก็จะต้องเตรียมความพร้อม ในการขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำเท่าที่มีอยู่ไปแจกจ่ายยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงดังกล่าว
ขณะที่การบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการกัน ทำให้มีน้ำคงเหลือเก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง โดย ณ วันที่ 17 เมษายน 2567 รวม 19,943 ล้าน ลบ.ม. (มีความจุใช้การ 38%) และคาดว่าจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ช่วงที่ฝนทิ้งช่วงประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามแม้จะต่ำกว่าปี 2566 อยู่ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
โดยที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดน้ำ เนื่องจากมีการปลูกข้าวนาปรังมากถึง 5.68 ล้านไร่ มากกว่าแผนการเพาะปลูกที่เกษตรกรตกลงกับกรมชลประทานไว้ (ที่ 3.03 ล้านไร่) ถึง 1.80 เท่า อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงและความตึงเครียดในการใช้น้ำผ่อนคลายลง จากการที่ฤดูฝนของปี 2567 จะมีสภาพภูมิอากาศแบบลานีญา คือ ฝนมากน้ำมาก
นอกจากนั้นในปี 2567 นี้ คาดว่าฝนจะตกล่าช้าโดยไปเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม และจะมีฝนในปริมาณที่มากกว่าปีเฉลี่ย 10 ถึง 20% ใกล้เคียงกับปี 2564 และ 2565 โดยในช่วงเดือนมิถุนายนต่อกับเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะน้อยลงและมีฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ และฝนจะตกมากกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันแม่ 12 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยจะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน และในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมจะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ฤดูฝนของปีลานีญาที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงต้องติดตามข่าวอากาศอย่างใกล้ชิด นอกจากลมฝน (มรสุมตะวันตกเฉียงใต้) ที่จะทำให้ฝนตกมากในพื้นที่ที่เป็นร่องฝน (ร่องความกดอากาศต่ำ) และพื้นที่ที่มีหย่อมฝนหย่อมความกดอากาศต่ำที่ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากแล้ว ในเดือนกันยายน-ตุลาคม มีโอกาสสูงที่จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และพายุหมุนเขตร้อน พัดมาขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม
โดยพายุบางลูกจะเข้ามาถึงประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ที่พายุเคลื่อนที่ผ่าน และพื้นที่ใกล้เคียง และยังทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงเพิ่มขึ้นทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับประเทศพม่า มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
อนึ่ง ตัวอย่างของปี 2565 ที่มีฝนตกมากกว่าปีปกติประมาณ 20% นั้น นอกจากฝนที่เกิดจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำและพายุหมุนที่มาทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นใน 5 ช่วงเวลาดังนี้
1) วันที่ 3-10 สิงหาคม 2565 พายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” (Mulan) ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่อิสาณตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับประเทศพม่า แล้วสลายตัวไปในพื้นที่ตอนบนของประเทศเวียดนาม
2) วันที่ 17-26 สิงหาคม 2565 พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (Ma-on) ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่อิสาณตอนบน น่าน และเชียงราย ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับประเทศพม่า แล้วสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศลาว
3) วันที่ 27 ถึง 29 กันยายน 2565 พายุไต้ฝุ่น “โนรู” (Noru) เป็นพายุลูกเดียวที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยในปี 2565 โดยได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (เมื่อค่ำของวันที่ 28 กันยายน) และเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณจังหวัดชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ ในช่วงค่ำของวันที่ 29 กันยายน 2565
4) วันที่ 12 ถึง 15 ตุลาคม 2565 พายุโซนร้อน “เซินกา” (Sonca) ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่อิสานตอนกลาง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับประเทศพม่า แล้วสลายตัวไปในบริเวณตอนใต้ของประเทศลาว
5) วันที่ 12 ถึง 21 ตุลาคม 2565 พายุไต้ฝุ่น “เนสาท” (Nesat) ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่อิสานตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับประเทศพม่า แล้วสลายตัวไปในบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม
สำหรับการเตรียมการรับมือกับสภาวะฝนมากน้ำมากตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ประกอบด้วย การกำจัดวัชพืช, ขุดลอกแหล่งน้ำ, ขุดลอกทางระบายน้ำและคูคลอง, ลอกท่อข้างถนนให้สามารถระบายน้ำลงสู่คลองสายใหญ่ และแม่น้ำได้โดยสะดวก, ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องมือในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ได้แก่ การซ่อมแซมผนังกั้นน้ำ, เตรียมกระสอบทรายไว้เสริมคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ, ซ่อมแซมบานประตูที่ใช้ปิดเปิดระบายน้ำ และซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
ทั้งนี้ การเกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศแบบเฉียบพลัน รวมถึงการเกิดลานีญา (2565) เอลนีโญ (2566) แล้วสลับกลับไปเป็นลานีญา (2567) ภายใน 1 ปีเช่นนี้ เป็นหนึ่งในผลที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดความแปรปรวนบ่อยครั้งขึ้น และนับวันจะเกิดสภาวะอากาศรุนแรงมากขึ้น ทั้งร้อนมาก แล้งมาก เกิดไฟป่ามาก หิมะและน้ำแข็งละลายลงสู่ทะเลมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
โดยในทางตรงกันข้ามอีกภูมิภาคหนึ่งเกิดฝนตกหนักมาก น้ำท่วมมาก และหนาวมากขึ้น มีความรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เกิดจากการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง (ขึ้นไปสะสมและคงอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นได้ไม่น้อยกว่า 200 ปี)
อย่างไรก็ตามในระยะยาว จึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับบุคคล และองค์กร เพื่อไม่ไปซ้ำเติมเพิ่มความรุนแรงเหล่านี้ให้กับลูกหลานให้ได้ ตามที่ผู้แทนประเทศไทยได้ไปให้คำมั่นไว้ในการประชุม COP26 (เมื่อปี 2564) ที่ผ่านมาว่า ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าที่ได้ดูดซับไว้ (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) คือในอีก 26 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึง 75 เซนติเมตร และจะอัดเอ่อเข้าไปในลำน้ำเจ้าพระยา, ท่าจีน, แม่กลอง, บางปะกง และลำคลองสาขาต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการลดการใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และลดการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้น้ำ ลดการปล่อยน้ำเสีย ลดขยะ ซึ่งทั้งหมดนี้ มีผลต่อการลดการใช้ไฟฟ้าลง โดยลดให้มากยิ่งขึ้นตั้งแต่วันนี้