ป.ป.ช. ส่งฟ้องอาญา “จิตรพงษ์” อดีตบอร์ด PTTEP เอี่ยวคดีรับสินบน “โรลส์-รอยซ์”

ป.ป.ช. ส่งสำนวนฟ้องอาญา “จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์” ริบเงิน 11 ล้านบาท ฐานรับสินบนการประมูลซื้อขายอุปกรณ์ในโครงการอาทิตย์ ระหว่าง PTTEP และ โรลส์-รอยซ์


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 เม.ย. 67) นายนิวัฒไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณี นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพร้อมพวก เอื้อประโยชน์ให้ บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับ PTTEP ในการจัดซื้ออุปกรณ์ (Feed Gas Turbine Compressor) หรือ เครื่องอัดอากาศแบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง สำหรับแท่นผลิตกลาง โครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้สืบสวนการจ่ายเงินสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงการทำข้อตกลงชะลอการฟ้องระหว่างสหรัฐอเมริกาและบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) ปรากฏข้อเท็จจริงเรื่องการดำเนินโครงการอาทิตย์ของ PTTEP ซึ่งบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้จ้างตัวกลางพร้อมกับได้ค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้ตัวกลางส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นสินบนให้เจ้าหน้าที่ PTTEP เพื่อให้ได้สิทธิเข้าทำสัญญาโครงการ

โดยคณะกรรมการป.ป.ช ได้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนว่าระหว่างปี 2547-2551 ซึ่ง PTTEP ได้ดำเนินการก่อสร้างแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ และมีการจัดหาเครื่อง Feed Gas Turbine Compressor สำหรับใช้ในการป้อนก๊าซจากแหล่งที่มาเข้าสู่กระบวนการผลิต จำนวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 พันล้านบาท)

ขณะที่ คณะกรรมการ PTTEP มีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจประกอบด้วย นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ซึ่งในการดำเนินการจัดหา นายเผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่งได้เร่งรัดให้มีการออกหนังสือเชิญบริษัทร่วมประมูลรวมถึง บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จีซิสเต็ม ก่อนที่คณะกรรมการจัดหาของ PTTEP ให้ความเห็นชอบ

อีกทั้ง ในการอนุมัติการสั่งซื้อของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ นายจิตรพงษ์ นายจุลสิงห์  และนายอนุชา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการสั่งซื้อ โดยมีข้อคิดเห็นให้จัดทำตัวเลขเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเพื่อพิจารณาเข้าร่วมการประมูลรายใดเสนอราคาดีและเป็นประโยชน์ต่อ PTTEP พร้อมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง

ด้าน นายมารุต มฤคทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ PTTEP ได้มีการเร่งรัดรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จาก บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ทั้งที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเพียงเห็นชอบในหลักการสั่งซื้อ อีกทั้งยังไม่มีการดำเนินการตามข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ

รวมทั้ง นายจิตรพงษ์ นายจุลสิงห์ และนายอนุชา ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจและอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงรายละเอียดของมติ ขณะที่พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาสั่งซื้อ จำนวน 2 เครื่อง มูลค่า รวม 24.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9 ร้อยล้านบาท)

โดย นายเผ่าเผด็จ ได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจาก บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารของ บริษัท แควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของ จำนวนรวมกว่า 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ควรได้ด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายต่อ PTTEP

อนึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มติเห็นว่า 1.การกระทำของ นายจิตรพงษ์ นายอนุชา และ นายมารุต มีมูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 มาตรา 12 และการกระทำของ นายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2.การกระทำของ นายเผ่าเผด็จ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 มาตรา 5 และมาตรา 12 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 60 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

3.การกระทำของผู้ถูกกล่าวหารายอื่นจากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป สำหรับ นายจุลสิงห์ ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน, เอกสารหลักฐาน, สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา พร้อมคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งอัยการสูงสุด ดำเนินการร้องขอให้ศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ริบทรัพย์สินรายการเงินสินบนจำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11 ล้านบาท) ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93

Back to top button