ก.ล.ต. จ่อปรับเกณฑ์หลักประกันบัญชี “เครดิต-เงินสด” เปิดเฮียริ่งกองทุนลงทุน “โทเคน-คริปโต”
ก.ล.ต. จ่อปรับเกณฑ์คำนวณคุณภาพหลักประกันบัญชี “เครดิต-เงินสด” พร้อมกับเปิดเฮียริ่งกองทุนรวมลงทุนโทเคน-คริปโตเพื่อหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล-ซอฟท์เพาเวอร์
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน MEDIA BRIEFING ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนเมษายน 2567 ว่าขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการปรับเกณฑ์การประเมินคุณภาพ (Quality) ของหลักประกันเพิ่มเติมทั้งในบัญชีเครดิต (มาร์จิ้น) และบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์) จากเดิมที่หลักประกันอาจมีการกระจุกตัวและมีโอกาสที่ราคาจะผันผวนเปลี่ยนแปลงได้ หรือไม่ได้คุณภาพ ซึ่งหากมีการกำกับที่ชัดเจนจะช่วยลดความเสี่ยงของโบรกเกอร์ให้น้อยลง
โดยรูปแบบเกณฑ์ใหม่นั้นจะมีการกำหนดแนวทาง และลดวงเงินการซื้อกรณีหุ้นที่เป็นหลักประกันที่มีราคาสูง หลังเกิดกรณีการทุจริตในการซื้อขายของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของเกณฑ์การคำนวณคุณภาพหลักประกันเพื่อกำหนดวงเงินในการซื้อขายได้ภายในช่วงไตรมาส 2/67
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มบทลงโทษมาตรการทางแพ่งเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มค่าปรับให้รุนแรงขึ้น จากเดิมที่โทษทางแพ่งกรณียินยอมจะมีการเปรียบเทียบปรับรวมเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.25 เท่าของมูลค่าประโยชน์ และการหาโอกาสในการหาแนวทางป้องปรามการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น นอกเหนือจากการแจ้งเตือนผ่านออฟชันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อป้องกันการกระทำความผิดในอนาคต
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 60 จนถึงเดือนมี.ค. 67 ได้ทำการเอาผิดกับผู้กระทำผิดสร้างราคาหลักทรัพย์แล้วจำนวน 61 คดี โดยมีจำนวนผู้กระทำผิด 241 ราย และมีมูลค่าค่าปรับทางแพ่ง 1.5 พันล้านบาท
โดยหากนับเฉพาะในไตรมาส 1/27 มีกรณีผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหลักทรัพย์และอื่นๆ รวมทั้งหมด 3 คดี จากกรณีหุ้น บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC, บริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ STAR และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ซึ่งมีผู้กระทำความผิดจำนวน 11 ราย และมีค่าปรับทางแพ่งมูลค่า 26 ล้านบาท โดยมี 13 คดี ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์
นายเอนก กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ยังมีมติอนุมติในหลักการจะปรับเกณฑ์ให้กองทุนรวมสามารถเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยการเปิดให้กองทุนรวมเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.Investment Token ที่ ก.ล.ต.มองว่ามีความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ และ 2.Cryptocurrency ที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงและมีความผันผวนด้านราคาสูง
ขณะที่เบื้องต้นจะมีการกำหนดเกณฑ์การลงทุนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น BITCOIN ETF เป็นต้น อีกทั้งจะกำหนดว่ากองทุนประเภทใดสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในสัดส่วนใด รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมุ่งเน้นใน 2 เกณฑ์หลักคือ 1.ประเภทของกองทุน เช่น กองทุนสำหรับรายย่อย ต้องดูด้านความเสี่ยงว่า หากกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงหรือต่ำจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้นต้องมีการจำกัดสัดส่วน Cryptocurrency ที่เท่าใด อีกทั้งต้องมีกฎเกณฑ์ด้านการโฆษณาที่โปร่งใส ชัดเจนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าไปลงทุน ขณะที่หากเป็นกองทุนเพื่อนักลงทุนสถาบันอาจจะพร้อมรับความเสี่ยงการลงทุนใน Cryptocurrency ได้มากกว่ารายย่อย และ 2.ด้านนักลงทุน ต้องดูเรื่องความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหนในแต่ละกลุ่ม
ด้านเทคโนโลยีต่อการพัฒนาตลาดทุน ทาง ก.ล.ต.ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่องการใช้ Investment token เพื่อการระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Soft power ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจเพลงที่มีการทำเพลงออกมาขายในตลาดผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ โดยมีการออก Token ของเพลงเพื่อให้นักลงทุนเข้าซื้อได้ โดยเมื่อเพลงดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จากการดาวน์โหลดผ่านช่องทางต่างๆ ทางเจ้าของเพลงจะได้ส่วนแบ่งและจะนำไปกระจายรายได้ให้กับผู้ถือ Token เป็นลำดับต่อไป
“การทำ Investment token เพื่อการระดมทุนธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ อย่าง Soft power จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายในหลายอุตสาหกรรม เช่น วงการภาพยนตร์ เพลง และอื่นๆ มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้กลไกเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นอีกด้วย โดย ก.ล.ต. จะมีการเฮียริ่งในช่วง พ.ค.นี้” นายเอนก กล่าว