เปิด 12 กฎเหล็ก ตลท.คุมเข้ม “ชอร์ตเซล-หุ้นซิ่ง” เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน
ตลท. เผยความคืบหน้ามาตรการยกระดับ-กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีมาตรการที่เตรียมประกาศบังคับใช้ 12 มาตรการ หวังลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์-กำกับพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของมาตรการการยกระดับ การกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าขณะนี้มีมาตรการที่อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศบังคับใช้ รวมทั้งมาตรการที่อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและเตรียมระบบ จำนวน 12 มาตรการ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้
1) มาตรการทบทวนหลักทรัพย์ที่สามารถทำการ Short Selling ได้ โดยกำหนดให้หลักทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ใน SET100 ต้องมี Market Cap 7,500 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมกำหนดไว้ที่ 5,000 ล้านบาท และกำหนดให้มี T/O Ratio 12 เดือน ที่ระดับ 2% โดยเตรียมออกประกาศบังคับใช้ภายในช่วงปลายไตรมาส 2/67
2) เพิ่ม Uptick รายหลักทรัพย์ โดยให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ ได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) ซึ่งปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) โดยเตรียมออกประกาศบังคับใช้ภายในช่วงปลายไตรมาส 2/67
3) จัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย โดยใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและเตรียมระบบ โดยเตรียมประกาศใช้ในช่วงปลายไตรมาส 4/67
4) เพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น หรือ Dynamic Price Band โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Ceiling & Floor) เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป โดยอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและเตรียมระบบ และมีกำหนดประกาศบังคับใช้ในช่วงไตรมาสปลายไตรมาส 2/67
5) เพิ่มมาตรการ Auction หุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย โดยกำหนดให้ใช้วิธีการซื้อขายแบบ Auction กับหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกากับการซื้อขาย Level 2 เพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ และมีกำหนดออกประกาศบังคับใช้ภายในช่วงไตรมาส 3/67 โดยมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ Level 1: 100% cash pre paid และห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณวงเงินซื้อขาย Level 2: Level 1 + ห้าม Net settlement + ซื้อขายด้วย Auction
โดยจะเปิดการตั้งออเดอร์เข้าไปซื้อขาย 3 ช่วงเวลา ดังนี้ ช่วงแรกเวลา 9:30-9:35 น. และให้หยุดการซื้อขาย และเริ่มตั้งออเดอร์ใหม่ช่วงที่ 2 เวลา 13:30-13:55 น. และให้หยุดการซื้อขาย แล้วทำการซื้อขายรอบที่ 3 ได้ในเวลา 16:30-16:35 น. และ Level 3: Pause (P) 1 วัน + Level 2 โดยจะเริ่มออกประกาศบังคับใช้ในไตรมาส 3/67
6) Auto halt รายหุ้น โดย เพิ่มการ Auto halt รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและเตรียมระบบ โดยเตรียมประกาศใช้ในช่วงปลายไตรมาส 4/67
7) กำหนดเวลาขั้นต่ำของ order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) โดยกำหนด Minimum Resting Time ของคำสั่งก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิก ไว้ที่ 250 milliseconds โดยคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูก reject โดยระบบ ทั้งนี้จะประกาศบังคับใช้ในไตรมาส 4/67
8) Central Order Screening เป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมเพื่อบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับการซื้อขายชอร์ตและการใช้ PT โดยอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและเตรียมระบบ ซึ่งจะประกาศบังคับใช้ในช่วงต้นปี 68
9) กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่สมาชิกทุกราย โดยจะประกาศใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/67
10) Register ผู้ใช้ HFT (HFT = PT สร้างและส่งคำสั่งซื้อขายที่ SET Colocation) โดยให้สมาชิกและลูกค้าที่ใช้ HFT ต้องยื่นคำขอและ filing ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของ Omnibus Account โดยจะประกาศบังคับใช้ในไตรมาส 2/67
11) เพิ่มบทระวางโทษสมาชิกให้สูงขึ้น 3 เท่า เพิ่มโทษในกรณีที่สมาชิกฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตและ PT ให้สูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 3 เท่า โดยเตรียมประกาศบังคับใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/67
12) เปิดเผยข้อมูลการถือ NVDR โดยกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลผู้ถือ NVDR สูงสุด 10 รายแรกและผู้ถือตั้งแต่ 0.5% ให้บุคคลทั่วไปทราบ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้น ของบริษัทจดทะเบียน โดยเตรียมประกาศบังคับใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/67
อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา ตลท. ได้มีการรายงาน Outstanding Short Position โดยการเปิดเผยข้อมูล Outstanding Short Position เป็นรายหลักทรัพย์และรายวันให้บุคคลทั่วไปทราบ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ 12 มาตรการข้างต้นเป็นการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์, กำกับพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และเป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย