“ดาวโจนส์” ปิดบวก 154 จุด ขานรับผลประกอบ “อัลฟาเบท-ไมโครซอฟท์” แกร่ง
“ดาวโจนส์” ปิดบวก 154 จุด ได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลังบริษัทอัลฟาเบท และบริษัทไมโครซอฟท์เปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดบวกในวันศุกร์ (26 เม.ย.67) โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลังบริษัทอัลฟาเบท และบริษัทไมโครซอฟท์เปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง
โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,239.66 จุด เพิ่มขึ้น 153.86 จุด หรือ +0.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,099.96 จุด เพิ่มขึ้น 51.54 จุด หรือ +1.02% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,927.90 จุด เพิ่มขึ้น 316.14 จุด หรือ +2.03%
ขณะที่บรรดานักลงทุนขานรับการที่บริษัทอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งเกินคาด, ประกาศจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรก และมีโครงการซื้อคืนหุ้นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับราคาหุ้นอัลฟาเบทพุ่งขึ้น 10% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหนุนมูลค่าตลาดขึ้นเหนือระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์
ด้านหุ้นไมโครซอฟท์ พุ่ง 1.8% หลังเปิดเผยรายได้และผลกำไรไตรมาส 3 สูงเกินคาด โดยได้แรงหนุนจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้นในบริการคลาวด์ของบริษัท และหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่อื่น ๆ ปรับตัวขึ้นด้วย อาทิ หุ้นอะเมซอน.คอม พุ่ง 3.4%, หุ้นอินวิเดีย พุ่ง 5.8% และหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส บวก 0.4% ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ล ลดลง 0.3% และหุ้นเทสลา ร่วงลง 1.1%
รวมถึงหุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก นำโดยการปรับตัวขึ้นของกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร, กลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มวัสดุ
ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 2566 หลังจากดัชนี S&P500 ติดลบ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน และดัชนี Nasdaq ลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
ด้านข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อรายเดือนเพิ่มขึ้นปานกลางในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อสอดคล้องกับประมาณการเมื่อเทียบเป็นรายเดือน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.8% เช่นกันในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
โดยรายงานดังกล่าวได้ช่วยคลายความวิตกในตลาดการเงินที่เกิดจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันและเงินเฟ้อสูง (stagflation) หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดีสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อพุ่งขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงในไตรมาสแรก
ทั้งนี้ หลังการเปิดเผยข้อมูล PCE ทำให้ตลาดคาดว่า มีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย. โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับ 4.6630% หลังการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
สำหรับหุ้นสแนป ซึ่งเป็นบริษัทด้านโซเชียลมีเดียพุ่งขึ้นเกือบ 28% หลังเปิดเผยรายได้และการขยายตัวของผู้ใช้ในไตรมาสแรกสูงเกินคาด และหุ้นพินเทอเรสต์ ปิดพุ่งขึ้น 4%
อย่างไรก็ตาม หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงเกือบ 3% หลังรายงานผลกำไรไตรมาสแรกร่วง 28% จากปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ และหุ้นอินเทลร่วงลง 9.1% หลังคาดการณ์รายได้และผลกำไรไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาด ขณะที่ความต้องการศูนย์ข้อมูลและชิปพีซีแบบดั้งเดิมของอินเทลอ่อนแอลง