ADVANC รายได้เน็ตบ้านพุ่ง ดันกำไร Q1 โต 25% เฉียด 8.5 พันล้านบาท

ADVANC รายงานกำไร Q1/67 เฉียด 8.5 พันล้านบาท เติบโต 25% รับรู้รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านเพิ่มขึ้น ผลดีจากการรับรู้รายได้ TTTBB เข้ามาหนุนหลังควบรวมกิจการ รวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/67 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

สำหรับบริษัทฯ ADVANC มีกำไรสุทธิ 8,451.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.07% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6,756.93 ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลมาจากในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 53,293 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน ได้รับผลดีจากการรับรู้รายได้ของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด(มหาชน) หรือ TTTBB การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการขยายตัวของฐานผู้ใช้งาน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนรายได้รวมเติบโตขึ้น 3.8% จากผลการรับรู้รายได้ของ TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส และการขยายตัวของรายได้การให้บริการหลัก ชดเชยกับรายได้การขายอุปกรณ์ที่ลดลงเล็กน้อย

โดยรายได้จากการให้บริการหลัก (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับ NT) อยู่ที่ 39,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน จากการขยายฐานรายได้จากการควบรวม TTTBB ร่วมกับการเติบโตของทุกบริการหลัก และเติบโต6.4% จากไตรมาสก่อน จากการรับรู้รายได้ TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส (เทียบกับการรับรู้เป็นเวลา 46 วันในไตรมาส 4/2566) ควบคู่กับการรักษาแนวโน้มการเติบโตของรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ขณะที่รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อยู่ที่ 30,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของ ARPU ผ่านโครงสร้างแพ็กเกจที่เน้นมูลค่าเพิ่ม, กลยุทธ์การส่งเสริมการขาย (Cross-sell), การใช้งาน 5G และผลบวกจากปริมาณการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

รวมถึงรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน อยู่ที่ 7,118 ล้านบาท เติบโต 163% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโต 41% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการรับรู้รายได้ TTTBB และการขยายฐานผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพ โดยมีโครงข่ายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในขณะที่ ARPU ปรับตัวเพิ่มจากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายแพ็กเกจที่เพิ่มมูลค่าและการขายพ่วงบริการเสริม

รวมทั้งรายได้จากธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและอื่น ๆ อยู่ที่ 1,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากความต้องการของลูกค้าองค์กรในการเชื่อมต่อข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและจากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และเติบโตขึ้น 1.2% จากไตรมาสก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB เต็มไตรมาส ชดเชยกับรายได้ของโครงการขนาดใหญ่ที่ลดลงในช่วงไตรมาส 1/2567นอกจากนี้รายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) และรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับ NT อยู่ที่3,366 ล้านบาท เติบโต 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการใช้งานเชื่อมต่อโครงข่ายที่สูงขึ้น ร่วมกับรับรู้รายได้ค่าเช่าใช้อุปกรณ์โครงข่าย 5G 700 MHz จาก NTแม้จะมีการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) ทั้งนี้รายได้ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน

ส่วนรายได้จากการขายอุปกรณ์และซิม อยู่ที่ 10,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากนโยบายลดหย่อนภาษีของรัฐบาล (Easy E-Receipt) ระหว่างมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2567 โดยหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน รายได้การขาย

อุปกรณ์ลดลง 3.7% จากปัจจัยเชิงฤดูกาลของการขาย iPhone รุ่นใหม่ ซึ่งเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 สำหรับอัตรากำไรของยอดขายอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 4.8% การควบคุมนโยบายส่วนลดค่าอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้จากบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 16 แห่งที่รวบรวมโดย LSEG พบว่ามี 14 แห่งยังคงแนะนำ “ซื้อ” ขณะที่อีก 2 แห่งให้คำแนะนำ “ถือ” โดยให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยอยู่ที่ 255.06 บาท ซึ่งหากเทียบกับราคาปิด ณ วันที่ 30 เม.ย. 67 อยู่ที่ 197.50 บาท ยังคงทำให้มี upside อยู่ 29% จากราคาปัจจุบัน อย่างไรก็ตามราคาเป้าหมายเป็นราคาก่อนประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 1/67

Back to top button