EMC ปรับโครงสร้างตั้ง “EMCX โฮลดิ้ง” แลกหุ้นเข้าตลาด
บอร์ด EMC ไฟเขียวปรับโครงสร้างตั้ง “อีเอ็มซี เอ็กซ์ โฮลดิ้ง” เตรียมออกขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 8,334 ล้านหุ้น ด้วยการแลกหุ้น 1:1 รับสิทธิ์จองซื้อหุ้นออกใหม่ “XR” วันที่ 8 พ.ค. 67
ดร.ชาลี จังวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัท โดยจัดตั้งบริษัท อีเอ็มซี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EMCX เป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ได้แก่ หุ้นสามัญของบริษัท โดยกำหนดวิธีการชำระค่าหุ้นด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทโฮลดิ้งในอัตราการแลกหุ้น (Share Swap Ratio) ที่หุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้ง 1 หุ้น ต่อ หุ้นสามัญของบริษัท 1 หุ้น
โดยภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทโฮลดิ้งเสร็จสิ้น จะนำหุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แทนหุ้นสามัญของบริษัทหรือ EMC ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้ง บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเสนอแนะความเห็นต่อผู้ถือหุ้นเพื่อประกอบการพิจารณาการเพิกถอนหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นยังพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering จำนวนไม่เกิน 8,434,049,054 หุ้น การออกเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ของบริษัทฯ ครั้งที่ 7 (EMC-W7) จำนวนไม่เกิน 4,217,024,527 หน่วย ) ในอัตรา 1 หุ้นสามัญต่อ 1 สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยผู้ถือหุ้นจะได้ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่าในอัตรา 2 หุ้นสามัญใหม่ ต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ มีอายุ 3 ปี ราคาการใช้สิทธิที่ 0.13 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิ์จองซื้อหุ้นออกใหม่ “XR” (Excluding Right) ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิในการจองหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567
สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวบริษัทจะนำมาเตรียมความพร้อมทางการเงินในธุรกิจที่ศึกษาไว้ อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีและไอที, ธุรกิจยูทิลิตี้ และธุรกิจ Oil & Gas โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีและไอทีที่ขยายตัวตามเมกะเทรนด์ทำให้มีมูลค่างานในการประมูลมากขึ้น อีกทั้งงานในด้านนี้ยังสนับสนุนและต่อยอดงานระบบเดิมที่บริษัทประมูล เช่น งานระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบปรับอากาส ให้มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจ New S-Curve จะนำมาซึ่งรายได้และกำไรให้บริษัทภายใต้โครงสร้างบริษัทโฮลดิ้งที่อยู่ระหว่างการจัดตั้ง
ดร.ชาลี กล่าวว่า การดำเนินงานในปี 2567 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากความตั้งใจในการบริหารจัดการทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างที่บริษัทพยายามก่อให้เกิดรายได้มาโดยตลอด ทั้งการควบคุมค่าใช้จ่าย การส่งมอบโครงการที่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ บริษัทจะเข้าไปสานต่อโครงการที่มี Backlog เช่น อาคารโรงพยาบาลตากสิน และงานก่อสร้างอาคารเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเข้าประมูลงานต่างๆ เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจหลักที่ชะลอตัวไปก่อนหน้านี้ ควบคู่ไปกับการเจรจาในธุรกิจกลุ่ม New S-Curve ที่คาดว่าจะสามารถสรุปข้อตกลงต่างๆทั้งในปีนี้ และในอนาคต