สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 พ.ค. 2567
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 พ.ค. 2567
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค. 67) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุนจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า นอกจากนี้ การชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,225.66 จุด เพิ่มขึ้น 322.37 จุด หรือ +0.85%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,064.20 จุด เพิ่มขึ้น 45.81 จุด หรือ +0.91% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,840.96 จุด เพิ่มขึ้น 235.48 จุด หรือ +1.51%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค. 67) โดยถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากเดือนมิ.ย. และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
ดัชนี STOXX600 ปิดตลาดที่ระดับ 503.21 จุด ลดลง 1.10 จุด หรือ -0.22%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,914.65 จุด ลดลง 70.28 จุด หรือ -0.88%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 17,896.50 จุด ลดลง 35.67 จุด หรือ -0.20% และดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,172.15 จุด เพิ่มขึ้น 50.91 จุด หรือ +0.63%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค. 67) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นเชลล์และหุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด หลังเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และนักลงทุนคลายวิตกหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,172.15 จุด เพิ่มขึ้น 50.91 จุด หรือ +0.63%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค. 67) โดยตลาดถูกกดันจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.40 ดอลลาร์ หรือ 0.06% ปิดที่ 2,309.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค. 67) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดถูกกดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกชะลอตัว, สต็อกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และจากการที่นักลงทุนมีความหวังน้อยลงว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 5 เซนต์ หรือ 0.06% ปิดที่ 78.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2567
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 23 เซนต์ หรือ 0.28% ปิดที่ 83.67 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (2 พ.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.43% แตะที่ระดับ 105.299