CKP ควัก 691 ล้านบาท ปันผลหุ้นละ 0.085 บาท ส่งซิกงบ Q2 ฟื้นแกร่ง
CKP เผยงบไตรมาส 1/67 ผลการดำเนินงานลดลงตามฤดูกาล พร้อมอนุมัติเงิน 991 ล้านบาท จ่ายปันผลหุ้นละ 0.085 บาท 23 พ.ค. 67 คาดผลงานไตรมาส 2 ทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเข้าใกล้หน้าฝน
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 1/2567 ว่า ในไตรมาสแรกของปี บริษัทมีกำไรขั้นต้น 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) มีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยภาพรวมไตรมาสแรกของปี CKP มีรายได้รวม 2,491 ล้านบาท ลดลง 195 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.30 สาเหตุหลักมาจากรายได้ขายไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ที่ลดลง จากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยและค่า Ft ขายปลีกต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 461 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 357 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 570 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำเฉลี่ยที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าของ XPCL ลดลง ค่าใช้จ่ายทางการเงินของ XPCL ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าหนี้สินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตามสัดส่วนการถือหุ้น ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งยังคงเป็นไปตามแนวโน้มสถานการณ์ปริมาณน้ำตามฤดูกาล ซึ่งโดยปกติไตรมาสแรกของปีจะเป็นไตรมาสที่มีปริมาณน้ำต่ำที่สุดเนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้ง และนอกจากนี้ บริษัทมีการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทบกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 219 ล้านบาท จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้
โดยส่วนใหญ่มาจากการที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง เริ่มเบิกเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ทั้งนี้หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดและไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดรับของบริษัทดังกล่าว บริษัทจะรับรู้ขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงาน (Core Net Profit) จำนวน 242 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น 163 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ถึงแม้ว่าจะใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากในช่วงก่อสร้าง แต่เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ และช่วยสร้างกระแสเงินสดและผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาวแก่บริษัท
โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี ฐานะทางการเงินของ CKPower ยังคงแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม อยู่ที่เพียง 0.55 เท่า และเงินสดคงเหลือรวมกว่า 5.50 พันล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา CKPower ได้ออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผุ้ถือหุ้นกู้จำนวน 4,000 ล้านบาท อายุ 2-5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.10 ต่อปี เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่อง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการลงทุนโครงการต่างๆ ของบริษัท
พร้อมกันนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.085 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 691 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำที่ค่อนข้างดีในช่วงไตรมาสแรกของ NN2 ประกอบกับปัจจัยปริมาณฝนตามฤดูกาล จะช่วยสร้างผลบวกต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสต่อๆ ไปของปี
“สำหรับก้าวต่อไป CKPower ได้วางเป้าหมายการเติบโตในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้กว่า 8.5 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 17 ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศ และในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593” นายธนวัฒน์ กล่าว