“พาณิชย์” โชว์ 4 เดือนแรก ต่างชาติแห่ลงทุนไทย เม็ดเงินสะพัด 5.5 หมื่นล้าน

พาณิชย์ เผย 4 เดือนแรกปี 67 ต่างชาติแห่ลงทุนในไทย 253 ราย เม็ดเงินสะพัด 5.49 หมื่นล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์เข้ามาลงทุนอันดับ 1 รองลงมา สิงคโปร์-สหรัฐอเมริกา-จีน และฮ่องกง ด้านการลงทุน EEC จำนวน 77 ราย แตะ 1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 87%


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-เม.ย.67) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 253 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 184 ราย เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท ส่งผลดีต่อการจ้างงานคนไทยถึง 1,019 คน สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ญี่ปุ่น 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 34,055 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจโฆษณา

– ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

– ธุรกิจบริการชุบเคลือบผิวด้วยโลหะ

– ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ตามความต้องการของลูกค้า เช่น แอนิเมชัน เป็นต้น

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอลูมิเนียมทุบขึ้นรูป/ ชิ้นส่วนรถยนต์/ ชิ้นส่วนโลหะ)

2.สิงคโปร์ 42 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,499 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น

– ธุรกิจบริการติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์

– ธุรกิจบริการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์และอุปกรณ์จับยึด/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ)

3.สหรัฐอเมริกา 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 1,148 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม

– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป/ เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม/ เครื่องมือช่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์)

– ธุรกิจโฆษณา

– ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนทางธุรกิจการให้คำปรึกษาทางการเงิน และการให้คำปรึกษาทางการตลาด เป็นต้น

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / DRUM BRAKE ASSEMBLY)

4.จีน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,031 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)

– ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center)

– ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น การรับฝาก การซื้อขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดพัดลมระบายความร้อนสำหรับรถยนต์/ หลอดไฟแบบ LED/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม)

– ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม

5.ฮ่องกง 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,650 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ ฟิล์มไวแสง)

– ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย

– ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบการใช้งานระบบ การซ่อมแซม บำรุงรักษา แผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์/ ชิ้นส่วนประกอบที่ทำจากอลูมิเนียม / แม่พิมพ์)

– ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ

อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยดังที่กล่าวไปข้างต้น ได้สร้างประโยชน์ให้เกิดกับประเทศไทยจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทยสร้างทักษะการทำงานขั้นสูงให้กับแรงงานไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในการออกแบบระบบโซล่าร์ขั้นสูงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีติดตามยานพาหนะองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสถานีอัดประจุไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยในปี 67 เพิ่มขึ้นจากปี 66 จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 (ม.ค.-เม.ย.67 อนุญาต 253 ราย ส่วนม.ค.-เม.ย.66 อนุญาต 217 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42  (ม.ค.-เม.ย.67 ลงทุน 54,958 ล้านบาท และ ม.ค.-เม.ย.66 ลงทุน 38,702 ล้านบาท) ในขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,400 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 (ม.ค.-เม.ย.67 จ้างงาน 1,019 คน และ ม.ค.-เม.ย.66 จ้างงาน 2,419 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

อธิบดี กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วงสี่เดือนแรกของปี 67 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 77 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 34 ราย หรือเพิ่มขึ้น 79% (ม.ค.-เม.ย.67 ลงทุน 77 ราย และ ม.ค.-เม.ย.66 ลงทุน 43 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 14,033 ล้านบาท คิดเป็น 26% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6,512 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 87% (ม.ค.-เม.ย.67 เงินลงทุน 14,033 ล้านบาท ส่วน ม.ค.-เม.ย.66 เงินลงทุน 7,521 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 20 ราย เงินลงทุน 2,002 ล้านบาท จีน 14 ราย เงินลงทุน 980 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 1,018 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 34 ราย เงินลงทุน 10,033 ล้านบาท  โดยธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC อาทิ

1.ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคเช่น ให้คำแนะนำในการติดตั้งระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องจักร ให้คำปรึกษา และแนะนำเชิงเทคนิคเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องจากการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น

2.ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า

3.ธุรกิจบริการซ่อมแซมหินเจียร ใบหินตัด ใบเลื่อย เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบทำด้วยเพชร

4.ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปทางด้านภาพ เสียงระบบนำร่อง และชิ้นส่วน/ แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป/ อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์)

5.ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายและ/หรือให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

Back to top button